ธุรกิจกับของเหลือทิ้งและของเสีย

ธุรกิจกับของเหลือทิ้งและของเสีย

ธุรกิจที่มีจิตสำนึกในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม มักจะให้ความสำคัญกับการจัดการของเหลือทิ้งและของเสีย

จากกระบวนการในการดำเนินธุรกิจของตนเองเป็นอันดับต้นๆ

เนื่องจากของเหลือทิ้งและของเสีย หากไม่ได้รับการจัดการที่ดี จะนำไปสู่การสร้างความเดือดร้อนรำคาญและชุมชนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปริมาณขยะ กลิ่น หรือโอกาสในการแพร่กระจายของสารพิษที่เกิดจากของเสียเหล่านั้น และอาจลุกลามสร้างความเสียหายให้แก่สังคมในวงกว้าง เช่น การปล่อยน้ำเสียหรือน้ำทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองสาธารณะ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ การปล่อยให้เกิดของเสียและของเหลือทิ้งจากกระบวนการดำเนินธุรกิจ ยังจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของธุรกิจอีกด้วย เนื่องจากของเสียและของเหลือทิ้ง จะทำให้ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อหาสินค้ามากขึ้น ซึ่งจะกระทบกับกำไรหรือผลตอบแทนของธุรกิจได้โดยตรง

ในภาพกว้าง การเกิดของเสียและของเหลือทิ้ง ยังจะแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบในการดำเนินธุรกิจอย่างฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างสิ้นเปลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป ไม่อาจสร้างขึ้นทดแทนได้ในเวลาสั้นๆ

แน่นอนว่า ผลกระทบต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ จะเป็นสาเหตุให้ธุรกิจโดยทั่วไป ต้องเผชิญกับการควบคุมโดยกฎระเบียบและกฎหมายที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ธุรกิจที่มีการเตรียมพร้อมในเรื่องของการจัดการของเหลือทิ้งและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพเสียแต่เนิ่นๆ ก็จะไม่ต้องเสี่ยงต่อผลกระทบที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ในภายหลัง

ในแง่ของผลกระทบต่อสังคม ของเสียและของเหลือทิ้งอาจไม่ได้อยู่ที่กระบวนการภายในของธุรกิจ เช่น ของเสียจากกระบวนการเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นตัวผลิตภัณฑ์ ของเสียจากการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ หรือของเสียที่เกิดจากการจัดเก็บอย่างไม่ระมัดระวัง แต่ยังจะรวมไปถึง ของเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ตลอดไปจนถึงเมื่อสิ้นสุดอายุใช้งาน และต้องทิ้งไปเป็นขยะ

การกำจัดขยะเหล่านี้อย่างถูกวิธี ก็เป็นการสร้างผลกระทบทางอ้อมให้กับสังคมโดยรวม เช่น การต้องใช้ที่ดินในการฝังกลบ การต้องใช้เชื้อเพลิงและพลังงานในการเผาทิ้ง แต่หากไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ขยะเหล่านี้ก็จะสร้างปัญหา ในเรื่องของมลภาวะต่างๆ ทั้งที่สามารสัมผัสได้โดยตรง และที่ไม่สามารถสัมผัสได้ เช่น การรั่วซึมลงไปปะปนกับแหล่งน้ำใต้พื้นดิน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นปัญหาของสังคมอย่างหนึ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากภาคการผลิตหรือภาคธุรกิจโดยตรง และต้องตกอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ที่สร้างของเสียและของเหลือทิ้งเหล่านี้ออกมา

ของเสียและของเหลือทิ้งจากการดำเนินธุรกิจ ยังอาจรวมไปถึง การใช้น้ำ และการปล่อยน้ำทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียจากกระบวนการผลิต หรือน้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในระหว่างการดำเนินธุรกิจ

การใช้พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานจากเชื้อเพลิงต่างๆ ที่เกิดการเปลี่ยนสภาพไปเป็นก๊าซเรือนกระจกในระหว่างการใช้งาน การขนส่ง หรือ การเดินทางในระหว่างการดำเนินธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะเป็นทางบกหรือทางน้ำแล้ว ยังรวมถึงการขนส่งและการเดินทางทางอากาศ ที่มีอัตราการเผาผลาญเชื้องเพลิงมากเป็นพิเศษ

ก๊าซที่เกิดจากเชื้อเพลิงในการคมนาคมขนส่งเหล่านี้จะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อนที่ไม่ได้สร้างผลกระทบของสังคมในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบไปได้ทั่วโลก

ดังนั้น ธุรกิจที่พร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการอยู่ร่วมกับสังคม การได้รับการยอมรับจากสังคม การมีชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดี ฯลฯ ที่จะเป็นปัจจัยเอื้อ สนับสนุนการขยายตัวและการเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจ จึงควรคำนึงในเรื่องของปัจจัยนำเข้าของทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจ การสร้างของเหลือทิ้งและของเสีย ตลอดวงจรชีวิตใช้งานของสินค้า และกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องเป็นส่วนประกอบในการดำเนินธุรกิจในทุกขั้นตอน

ด้วยการจัดให้มีระบบชี้บ่ง ติดตาม และควบคุม ที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบที่จะมีต่อสังคมภายนอกโดยทั่วไป