อวสานของหุ้น Growth?

อวสานของหุ้น Growth?

อวสานของหุ้น Growth?

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าตลาดหุ้นไทยจะลดความร้อนแรงลง แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นจะไม่ได้ปรับตัวลงเท่าไรนักแต่ปริมาณการซื้อขายต่อวันก็ชะลอตัวลงพอสมควร สิ่งที่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจกว่าก็คือ ปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนส่วนบุคคลนั้นลดลงมาก สัดส่วนที่เคยซื้อขายเกินกว่า 50% ลดลงเหลือเพียงประมาณ 40% เศษ ๆ ในขณะที่นักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากเป็นกว่า 30% เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันที่เพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% ของการซื้อขายทั้งหมด มองลึกลงไปอีกก็จะพบว่าหุ้นบางกลุ่มโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นตัวเล็กและกลางที่เคยมีราคาปรับตัวขึ้นไปเร็วและสูงมากพร้อม ๆ กับราคาหุ้นที่ “แพง” มากวัดจากค่า PE ที่สูงบางทีถึง 50 หรือ 100 เท่า ค่า PB สูง 5-10 เท่าขึ้นไป และผลตอบแทนเงินปันผลบางทีไม่เกิน 1-2% ต่อปี เริ่มมีการปรับตัวลดลงแรงมาก ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากขาดทุนอย่างหนักและชะลอการลงทุนลงในช่วงนี้

หุ้นที่มีราคาปรับตัวขึ้นไปสูงมากจนราคา “แพงเวอร์” ดังกล่าวนั้น ในทางวิชาการลงทุนถูกเรียกว่าเป็นหุ้นเติบโตเร็วหรือ Growth Stock ซึ่งมีคุณสมบัติต่าง ๆ ตรงกันข้ามกับ Value Stock หรือหุ้นเน้นคุณค่า ประเด็นที่แตกต่างสำคัญก็คือ หุ้นเติบโตเร็วนั้นจะเป็นหุ้นของบริษัทที่มียอดขายและ/หรือกำไรโตเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวม ยิ่งโตเร็วกว่าเท่าไรก็ยิ่งเป็นหุ้นที่นักลงทุนที่เน้นหุ้น Growth ชอบมากเท่านั้น พวกเขาจะเข้าไปลงทุนไล่ซื้อหุ้นจนราคาขึ้นไปสูงลิ่วและทำให้หุ้นเหล่านั้นมีราคาสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากและก็ซื้อโดยไม่ค่อยสนใจว่ามันอาจจะแพงเกินไป เพราะพวกเขาคิดว่าเดี๋ยวกำไรก็จะโตตามมาอย่างรวดเร็วและทำให้หุ้นถูกลง มีค่า PE ที่ต่ำลงมาเอง หุ้น Growth นั้นมักจะอยู่ในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่กำลังโตเร็วเช่นพวกที่อิงกับเทคโนโลยี่สมัยใหม่หรือเป็นสินค้าที่เป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจที่สามารถเอาชนะคู่แข่งและกินส่วนแบ่งการตลาดได้เพิ่มขึ้นก็ได้

ตรงกันข้ามกับหุ้นเติบโตเร็วก็คือหุ้น Value ที่มักจะเป็นหุ้นที่ดูเหมือนว่าจะโตช้าและไม่มีอะไรน่าสนใจและมักจะอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า ๆ ที่อิ่มตัวหรือใกล้อิ่มตัว นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะมีความคาดหวังอะไรมากนักว่าบริษัทจะมีผลประกอบการที่หวือหวาเติบโตเร็ว ผลงานล่าสุดที่ผ่านมาก็อาจจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมและระดับเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้น ราคาหุ้นก็มักจะถูกมาก ค่า PE บางทีก็ต่ำกว่า 10 เท่า PB มักจะไม่เกิน 2 เท่าและบางทีก็ต่ำกว่า 1 เท่า ส่วนอัตราผลตอบแทนเงินปันผลนั้นมักจะสูงกว่า 3% ต่อปี บางทีก็ถึง 5% เหตุผลที่จ่ายปันผลมากส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะไม่ได้มีโครงการลงทุนใหม่อะไรที่จะต้องใช้เงินมากมายเนื่องจากธุรกิจอาจจะไม่ค่อยโต

ในตลาดหุ้นไทยเองนั้น แนวความคิดเรื่องหุ้นยังไม่ได้พัฒนามากนัก ในอดีตก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ตลาดหุ้นไทยหรือนักลงทุนไทยไม่เคยมี “ทฤษฎีการลงทุน” หุ้นก็คือการเก็งกำไรหรือเกือบจะเป็นการพนันที่คนเล่นส่วนใหญ่ก็คือคนที่ “กล้าได้กล้าเสีย” และเล่นด้วยข่าว เล่นด้วยกระแสหุ้น เล่นด้วยการ “ปั่นหุ้น” และเล่นโดยอาศัยสัญชาติญาณของนักเก็งกำไร คนที่ทำมาหากินโดยเฉพาะที่เป็นคนกินเงินเดือนไม่มีใคร “เล่นหุ้น” หลังจากปีวิกฤติ การลงทุนแบบ Value Investing เริ่มเข้ามา ความรู้และทฤษฎีเกี่ยวกับการลงทุนเริ่มถูกนำเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทย คนทำมาหากินที่มีความรู้เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น จำนวนมากเริ่มรับรู้เรื่องของ Value Investment หรือ VI ว่าเป็นแนวทางการลงทุนที่เน้นการศึกษาหาข้อมูลและวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านราคาของหลักทรัพย์แล้วซื้อเมื่อราคาหุ้นนั้นต่ำกว่า “มูลค่าที่แท้จริง” ของกิจการ แนวทางแบบใหม่นี้สร้างผลตอบแทนให้กับคนที่ใช้มหาศาลเพราะราคาหุ้นเหล่านั้นปรับตัวขึ้นเร็วและมากอย่างไม่น่าเชื่อในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น หุ้นของบริษัทขนาดกลางและเล็กที่ดีและมีการเติบโตสูงที่เป็นคุณสมบัติที่พึงปราถนาอย่างหนึ่งของหุ้น Value นั้นมีราคาปรับตัวขึ้นเร็วและมากอย่างไม่น่าเชื่ออานิสงส์จากการที่นักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากเข้ามา “เก็งกำไร” กันอย่างหนัก คนรุ่นใหม่ที่มีเงินหรือเป็นทายาทของคนที่มีเงินต่างก็เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกันเป็นจำนวนมาก พวกเขาเข้ามา “ไล่ล่า” หุ้นที่มีการปรับตัวของราคาอย่างรวดเร็วซึ่งก็คือหุ้นขนาดเล็กที่มีปริมาณหุ้นหมุนเวียนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงินของนักลงทุนส่วนบุคคลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ผลก็คือ หุ้นจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็น “หุ้นเล็ก ดีและโตเร็ว” ถูก Corner หรือถูก “ต้อนเข้ามุม” ซึ่งทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงลิ่วได้โดยไม่เกี่ยวกับพื้นฐานของกิจการ ราคาหุ้นเหล่านั้นแพงขึ้นมากจนไม่อาจจะเรียกว่าเป็นหุ้น Value อีกต่อไป มันกลายเป็นหุ้น Growth ในความหมายสากลหรือความหมายทางวิชาการ กระแสของหุ้น Growth ในตลาดหุ้นไทยดำเนินมาจนถึงวันนี้และอาจจะเรียกว่าเป็นยุคทองของหุ้น Growth ก็ได้

ด้วยราคาที่อาจจะแพงเกินไป พอตลาดหุ้นไทยเริ่ม “ชะลอตัว” และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ Growth หรือการเติบโตของบริษัทที่โตเร็วเริ่ม “ชะลอตัว” นักลงทุนหรือนักเก็งกำไรในหุ้น Growth บางคนก็อาจจะเริ่มขาดความมั่นใจ พวกเขาเริ่มทยอยขายหุ้นที่มีราคาขึ้นมามากซึ่งทำให้หุ้นตัวนั้นเริ่มตกลงมาอย่างแรงเนื่องจากขาดแรงซื้อใหม่ ๆ ที่จะมารับหุ้นต่อ เมื่อราคาหุ้นเริ่มตก ความเชื่อมั่นก็ลดลงมาอีกทำให้นักลงทุนอื่นขายตามและทำให้หุ้นตกลงไปอีก นี่ดูเหมือนจะคล้าย ๆ กับช่วงที่หุ้นขึ้นเพียงแต่เป็นคนละด้าน เมื่อหุ้น “Growth” ตัวแรกตกลงมาแรง นักลงทุนก็เริ่มขาดความมั่นใจในหุ้น Growth ตัวที่สองและสามหรือตัวต่อ ๆ ไปที่มีคุณสมบัติและเส้นทางเดินของหุ้นคล้าย ๆ กัน ผลก็คือ หุ้น Growth จำนวนมากมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วและเพิ่มจำนวนขึ้นมาเรื่อย ๆ และนี่อาจจะเป็น “อวสานของหุ้น Growth” ของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้

ถ้ามองจากประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า ในตลาดหุ้นอย่างสหรัฐเองนั้น ช่วง “เวลาทอง” ของหุ้น Growth นั้นมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นเร็วแบบ “กระทิง” นักลงทุนมีความรู้สึกดีกับหุ้นและเข้ามาลงทุนและมักจะซื้อหุ้นที่โตเร็วเพราะราคาหุ้นแบบนี้จะวิ่งเร็วมาก ตัวอย่างเช่นช่วงก่อนปี 2000 ที่ตลาดหุ้นสหรัฐขึ้นไปมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดของหุ้นไฮเท็ค แต่ในช่วงที่ตลาดปกติหรือซบเซานั้น หุ้น Value จะมีผลงานที่ดีกว่าเนื่องจากหุ้น Value นั้นมักจะสามารถประคองตัวเองได้ดีกว่าในยามที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไม่ใคร่ดี

การศึกษาหุ้น Growth นั้นพบว่า โดยเฉลี่ยในระยะยาวแล้ว การลงทุนในหุ้น Growth เป็นกลยุทธ์ที่ “แย่ที่สุด” เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นโดยที่หุ้น Value คือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด เหตุผลก็คือ หุ้น Growth นั้น คนลงทุนมักจะมองโลกในแง่ดีกับหุ้นมากเกินไปคิดว่ามันจะดีและโตเร็วทำให้พวกเขาให้ราคามันสูงเกินพื้นฐาน แต่ข้อเท็จจริงจากการศึกษากลับพบว่าหุ้นที่โตเร็วในปีนี้มักจะโตช้าลงในปีหน้า ส่วนหุ้นที่โตช้าในปีนี้กลับโตเร็วในปีหน้า ดังนั้น ถ้าเราซื้อหุ้นโตเร็วในปีนี้ในราคาแพงเราจึงมักจะขาดทุนเมื่อถือไปจนถึงปีหน้า ในขณะที่หุ้น Value นั้น คนไม่ได้คาดหวังกับมันมากทำให้หุ้นมีราคาถูกในขณะที่ในปีต่อไปผลประกอบการมักจะดีขึ้น ทำให้คนที่ซื้อไว้ก่อนได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่ทั้งหมดนั้นก็คือ “ค่าเฉลี่ย” แน่นอนว่า หุ้น Growth บางตัวก็ทำผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาวเพราะมัน “ดีจริง” ไม่ได้ดีชั่วคราวแบบหุ้น Growth ส่วนใหญ่ เช่นเดียวกัน หุ้น Value บางตัวก็แย่ในระยะยาว เพราะมันเป็นหุ้น “ตะวันตกดิน” ที่จะแย่ลงไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม เวลาลงทุน ในฐานะที่เป็น VI เราจะต้องดู “ความน่าจะเป็น” ว่าโอกาสมักจะออกมาทางไหนมากกว่ากัน อย่าคิดว่าเราเก่งจนเลือกได้ถูกต้องทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่มักจะแย่