'ไทย'เตรียมแผนรักษา 'โรคพลังงานทดแทน'

'ไทย'เตรียมแผนรักษา  'โรคพลังงานทดแทน'

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศชั้นนำทั่วโลกเน้นผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน ตามเทรนของโลกที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด

แต่ในปี 2559 หลายประเทศที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนสูงกว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเริ่มประสบปัญหา 

แคนาดา ประสบปัญหาค่าไฟฟ้าแพงเป็นประวัติการณ์ หลังใช้เงินเข้าไปอุดหนุนพลังงานทดแทนถึง 77% ของค่าไฟฟ้า ประชาชนบางส่วนแทบไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้า จนรัฐมนตรีฯต้องออกมากล่าวคำขอโทษ

เยอรมนี ค่าไฟฟ้าพุ่งแตะเกือบ 12 บาทต่อหน่วย กลายเป็นประเทศอันดับ 2 ที่มีค่าไฟฟ้าสูงที่สุดในยุโรป รองจากเดนมาร์กและระบบไฟฟ้าเริ่มไม่เสถียร ภาคอุตสาหกรรมและห้างร้าน ต้องสร้างระบบไฟฟ้าสำรอง (แบ็คอัพ) เอง

ขณะที่เซาท์ออสเตรเลีย เกิดพายุรุนแรงและฟ้าผ่ามากกว่า 21,000 ครั้งในช่วงเวลา 12 ชั่วโมง ทำให้ไฟฟ้าดับนานราว 3วัน แม้จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ยังใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา กระทบต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ 

เหตุการณ์ต่างๆในรอบปีที่ผ่านมากูรูด้านพลังงานเรียกอาการนี้ว่า โรคพลังงานทดแทน

หากหยิบยกข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยในขณะนี้คงไม่ต่างกัน อาการโรคพลังงานทดแทน เริ่มสะท้อนผ่านการคำนวนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(FT) งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.นี้ พบว่า ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีสัญญาผูกพันธ์กับรัฐแล้วกว่า 9,210เมกะวัตต์ และผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้ว 6,983 เมกะวัตต์ 

รัฐต้องใช้เงินไปสนับสนุนราว 13,536 ล้านบาท คิดเป็นภาระค่าไฟฟ้าที่ส่งผ่านถึงภาคประชาชนประมาณ 21.77 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อคำนวนรวมกับต้นทุนอื่นๆ ทำให้ค่าไฟงวดนี้เพิ่มขึ้น 12.52 สตางค์ต่อหน่วย เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้ไฟ

ช่วงเวลาไม่กี่ปีรัฐประสบความสำเร็จในการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้ราว 60% ของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP)ที่กำหนดไว้ 19,684.40 เมกะวัตต์ ในปี 2579 ซึ่งหากไปถึงเป้าหมายดังกล่าวโดยยังขาดแผนรองรับที่ดีพอ นโยบายนี้อาจพ่นพิษและหนีไม่พ้นที่คนไทยจะต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายค่าไฟฟ้าแพง

โจทย์นี้ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ต้องเร่งปรับโครงสร้างองค์กร จัดตั้งหน่วยงานระดับรองผู้ว่าการ ด้านพลังงานทดแทน เตรียมพร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2 พันเมกะวัตต์ ในรูปแบบเสถียร(เฟิร์ม) หรือ เชื้อเพลิงผสมผสาน(ไฮบริด) พร้อมพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage)หวังสร้างเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า และควบคุมให้ราคาต้นทุนต่ำ แต่การปรับตัวของ กฟผ. เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเท่านั้น และยังต้องใช้เวลาดำเนินการ

ดังนั้น ถ้าไม่อยากปล่อยให้ “ไทย เป็นโรคพลังงานทดแทน เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ผู้ใช้ไฟต้องมาช่วยแบกรับค่าไฟในอัตราที่สูง ทางออกที่จะช่วยให้หายจากโรคนี้รัฐยังต้องดำเนินการอีกหลายด้าน เช่น ลดภาระการอุดหนุนพลังงานทดแทน ใช้รูปแบบเปิดประมูลแข่งขันด้านราคา และรอจังหวะส่งเสริมพลังงานทดแทนในช่วงที่มีต้นทุนต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น

 .........................

ณัฐณิชา ดอนสุวรรณ