เมื่อรู้ปัญหา ย่อมมีทางออก

เมื่อรู้ปัญหา ย่อมมีทางออก

รัฐบาลกำหนดให้ผู้มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยดูจากรายได้และการถือครองทรัพย์สินเป็นหลัก

 โดยมีรายได้ในปี  2559  ไม่เกิน  100,000 บาท รวมทั้งไม่เป็นผู้มีทรัพย์สิน ซึ่งล่าสุดมีผู้ไปลงทะเบียนแล้วกว่า  12 ล้านคน โดยคาดว่าเมื่อถึงวันสิ้นสุดการลงทะเบียนน่าจะมีประชาชนลงทะเบียนราว 14 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือโดยตรงในเรื่องสวัสดิการของรัฐ และเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก และหากดูตัวเลขผู้มาลงทะเบียนแล้วถือว่าเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่มีผู้ลงทะเบียนกว่า 9 คน

มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่มาตรการช่วยเหลือโดยตรงนับเป็นมาตรการเฉพาะหน้าในการช่วยเหลือในเรื่องของค่าครองชีพเป็นสำคัญ และหากพิจารณาจากมาตรการของรัฐบาลที่ประกาศออกมานั้นไม่แตกต่างจากรัฐบาลก่อนหน้านี้เท่าใดนัก เพียงแต่มีขั้นตอนและรายละเอียดการส่งความช่วยเหลือที่แตกต่างออกไป โดยรัฐบาลอ้างว่ามาตรการที่ดำเนินอยู่นี้ไม่ได้เป็นลักษณะแบบเหมาหว่าน แต่จะส่งความช่วยเหลือถึงมือผู้มีรายได้น้อยโดยตรง

การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นนโยบายที่ไม่มีใครคัดค้าน เพราะสังคมที่สามารถอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขได้ ก็จำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสหรือผู้มีฐานะยากจน ซึ่งหากพิจารณาจากตัวเลขของผู้มาลงทะเบียนกับหน่วยงานรัฐบาลจะพบว่ามีค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรของประเทศราว  68 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 20% และหากมีประชาชนที่เข้าเกณฑ์มายื่นลงทะเบียนตามเกณฑ์ ตัวเลขผู้มีรายได้น้อยอาจสูงมากกว่านี้ เพราะโดยทั่วไปแล้วคนจนจริงๆนั้นมีข้อจำกัดมากในการเข้าถึงบริการภาครัฐ

สัดส่วนของผู้มีรายได้น้อยและรัฐบาลจำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้าค่อนข้างสูง ด้านหนึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งเป็นเหมือนการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการกระจายรายได้ให้กับประชาชน แม้โดยหลักหรือเชิงทฤษฎีของผู้กำหนดนโยบายไม่ได้คาดว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้มากมายขนาดนี้ แต่นั่นเป็นความจริงที่ปรากฏว่าไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจโดรยรวม แต่ล้มเหลวเรื่องการกระจายรายได้

อันที่จริง ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมนั้น เป็นปัญหาเก่าแก่และทุกประเทศเผชิญกับปัญหาเดียวกันนี้ เพียงแต่ระดับความรุนแรงของปัญหามีความแตกต่างกัน บางประเทศปัญหาลุกลามจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองหรือการประท้วงรุนแรงของผู้มีรายได้น้อยเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ส่วนกรณีของสังคมไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน เมื่อเกิดความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองโดยมีการกล่าวถึงกันมาก่าสาเหตุของปัญหาทั้งหลายทั้งปวงก็เนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่มีมานาน

ดังนั้น การแก้ปัญหาความเหลื่อมจึงถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับรัฐบาลนี้และรัฐบาลในอนาคต ซึ่งการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหาใช่ดูเพียงแค่ตัวเลขเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดยว เพราะความร่ำรวยและยากจนเป็นอาการของปัญหาเท่านั้น แต่ต้นสายปลายเหตุของความเหลื่อมล้ำมีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับเรื่องทางสังคมและวัฒนธรรมค่อนข้างสูง อีกทั้งเกี่ยวกับเรื่องตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง ซึ่งหากเปรียบเทียบปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เหมือนในแมลงมุม โดยไม่รู้ว่าจะแก้ตรงไหนก่อนเพราะทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมด

อย่างไรก็ตาม ความพยายามแก้ปัญหาในเรื่องนี้มีมานาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหานี้ได้รับการตระหนักถึงว่าเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ และเราเชื่อว่าย่อมมีทางออกเสมอ เพราะตราบใดที่เราตระหนักถึงปัญหา นั่นย่อมชี้ให้เห็นว่าเรากำลังหาทางออก แม้ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะตรงไหนก่อนและยังไม่รู้ว่ามาตรการที่ออกไปนั้นจะได้ผลจริงหรือไม่