ประกันสุขภาพคนไทย เอาแบบไหนดี (4)

ประกันสุขภาพคนไทย เอาแบบไหนดี (4)

ด้านกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ (ประกันสุขภาพถ้วนหน้า) หรือที่เรียกกันติดปากว่า บัตรทอง

 หรือสามสิบบาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นระบบเก็บกวาดรวมประชาชน ที่ไม่อยู่ในสองสามระบบข้างต้น มาอยู่ภายใต้หลักประกันที่รัฐอุ้มชูทั้งหมด แท้จริงแล้วระบบนี้ตาม พระราชบัญญัติกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐอาจให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยได้ แต่ในทางปฏิบัติ รัฐไม่เคยเรียกเก็บหรือให้ประชาชนร่วมจ่ายแต่อย่างใด เมื่อยามที่รัฐมีเงินมากพอสำหรับค่ารักษาพยาบาลประชาชนก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อรัฐมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ไม่สามารถจ่ายให้ได้ทั้งหมด อีกทั้งค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประชาชน ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ทันกับความต้องการของประชาชน ปัญหาก็รุมเร้ามากขึ้น วิธีแก้ไขของ สปสช. ที่ใช้วิธีเกลี่ยเงินจากกองทุนต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลก็ดี หรือที่รัฐบาลเพิ่มงบประมาณกลางปีที่เอามาจากงบกลางก็ดี เป็นการแก้ไขแบบชั่วคราวมากกว่าถาวรเพราะยังอยู่ในระบบแบบเดิม สิ่งที่รัฐจะต้องทำแน่นอนที่สุดคือ การร่วมจ่ายของประชาชนจะต้องเกิดขึ้น เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถให้การรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่เพียงแค่พื้นฐานตามเกณฑ์ขั้นต้น เพราะถ้าสถานพยาบาลไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากกว่ารายได้ หรืองบประมาณที่รัฐให้ต่อเนื่องกัน ในที่สุดโรงพยาบาลก็อยู่ไม่ได้ ผลกรรมก็จะตกกับรัฐที่ไม่ได้ให้การดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงและอย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ดีมีทางเลือกบางประการสำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นกัน

ประการที่หนึ่ง คือให้ระบบประกันภัยภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระดับใดระดับหนึ่ง เพื่อกระจายความเสี่ยงของกองทุน เพราะภาคเอกชนที่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ค่าประกันไม่เพิ่มสูงขึ้น และการแข่งขันกันเองของภาคเอกชน จะยิ่งทำให้ได้รับบริการที่ดีในราคาที่เหมาะสม

ประการที่สอง คืออาจมีการรวมกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติเข้ากับกองทุนประกันสังคม กรณีนี้ถ้ารัฐเห็นว่ากองทุนประกันสังคมมีระบบที่เหมาะสม เงินกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติอาจถือเป็นเงินสมทบจากรัฐดังเช่นเงินกองทุนประกันสังคม เพราะถึงอย่างไรรัฐก็ต้องจ่ายร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เช่นนี้ประชาชนทุกคนในประเทศที่ไม่ใช่ข้าราชการ ที่ได้รับสวัสดิการข้าราชการ และไม่ใช่ผู้เลือกที่จะรับบริการจากภาคเอกชนก็จะได้รับการบริการที่เสมอหน้าทั้งหมด มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีการเปรียบเทียบกันอยู่บ่อยๆ ว่าผู้ใช้สิทธิประกันสังคมกับผู้ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความแตกต่างกันอย่างมาก เมื่อเข้าสู่ระบบเดียวกัน ภายใต้การบริหารจัดการของกองทุนประกันสังคม เรื่องนี้ก็จะหมดไป

ระบบประกันสุขภาพของประชาชนคนไทย ไม่ควรหลากหลายแตกต่างมากเกินไป เพราะยิ่งมากระบบก็ยิ่งมากความต่าง และการบริหารจัดการก็ยากขึ้น ปัจจุบันรัฐก็พยายามเอื้ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ที่แม้อยู่ในระบบที่ต่างกันแต่ก็สามารถเข้ามาใช้บริการสถานพยาบาลเดียวกันได้ โดยสถานพยาบาลเรียกเก็บเงินข้ามกองทุน เทคโนโลยีข้อมูลที่ส่งผ่านได้รวดเร็วช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำให้เห็นอีกไม่น้อยเช่นบางโรคผู้ใช้สวัสดิการข้าราชการเบิกค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมดไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใด กองทุนประกันสังคมให้สิทธิประโยชน์น้อยกว่ากองทุนสวัสดิการข้าราชการ แต่ก็มากกว่ากองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่บางครั้งก็ติดปัญหาเรื่องงบประมาณที่ สปสช.ได้รับจากรัฐบาล ก็จะได้รับการรักษาพยาบาลภายใต้กฎเกณฑ์หรือระเบียบเลิกจ่ายที่เคร่งครัด ความเหลื่อมล้ำก็เกิดกับผู้ใช้สิทธิที่ใช้ต่างกองทุนกัน

ถ้ารัฐปล่อยให้แต่ละกองทุนมีการบริหารจัดการกันเองเช่นนี้ต่อไป ความเหลื่อมล้ำก็คงยังมีต่อไป การรวมกองทุนเข้าด้วยกันเป็นทางเลือกในการที่รวมทรัพยากรเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว โดยหลักเศรษฐศาสตร์แล้วก็จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความประหยัดเนื่องจากขนาด หรือ Economy of scale กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็ทำครั้งเดียว จะได้ราคาลดลงเพราะซื้อจำนวนเยอะ การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลก็มีตลาดระดับประเทศรองรับ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือผู้ให้บริการที่เป็นชุดเดียวกัน คือแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ประจำอยู่ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ ที่ไม่ว่าจะใช้สิทธิประโยชน์จากกองทุนไหน ก็ต้องมาจบที่โรงพยาบาลเหมือนกันหมด แล้วทำไมเราไม่คิดรวมกองทุนเหล่านี้เข้าด้วยกัน ถ้าจะทำให้หลายๆอย่างดีขึ้น