ความผันผวนหรือความเงียบเหงา?

ความผันผวนหรือความเงียบเหงา?

ความผันผวนหรือความเงียบเหงา?

ตั้งแต่หลังสงกรานต์มาบรรยากาศของตลาดค่อนข้างเงียบเหงา นักลงทุนอาจจะรู้สึกอึดอัด คนที่รอจะซื้อหุ้นก็ลังเลที่จะซื้อหุ้น นักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ก็ไม่แน่ใจว่าจะขายออกมาดีไหม แต่ก็พร้อมที่จะเทขายหุ้นออกมาถ้าราคาเริ่มปรับตัวลง ความคิดแบบนี้วนไปวนมาในตลาด ทำให้สภาพตลาดเป็นไปในลักษณะที่ว่า วันที่ตลาดปรับตัวขึ้นก็จะขึ้นด้วยมูลค่าซื้อขายแบบเบาบาง วันที่ตลาดปรับตัวลงก็จะลงด้วยมูลค่าซื้อขายที่เพิ่มขึ้นมาบ้าง หุ้นขนาดเล็กขนาดกลางหลายๆ ตัวที่ราคาเคยปรับตัวขึ้นมาแรงจนเทรดกันที่ P/E หลายๆ สิบเท่า ก็ได้รับผลกระทบจากลักษณะอารมณ์ตลาดแบบนี้ เมื่อราคาเริ่มปรับตัวลง มวลชนก็พร้อมที่จะขายหุ้นออกมาพร้อมๆกันจนทำให้หุ้นกลุ่มนี้ราคาปรับตัวลงแบบรุนแรงด้วยมูลค่าซื้อขายที่สูงขึ้น

ความเงียบของตลาดหุ้นในลักษณะนี้เกิดขึ้นไปทั่วโลกไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ค่าดัชนี VIX (ดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของดัชนี S&P ในอนาคต หรือดัชนีความกลัว) ปรับตัวลดลงอย่างมากจนแตะระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 ซึ่งค่า VIX ที่ต่ำเตี้ยเป็นประวัติการณ์ ทางทฤษฏีการเงินอาจจะมองว่าค่า VIX ต่ำๆ หมายถึงความเสี่ยงก็ต่ำตาม แต่ในทางปฏิบัติถือว่าต่ำเกินไปจนทำอะไรไม่ได้นักเก็งกำไร หรือ Hedge Fund ที่มีกลยุทธ์แสวงหากำไรบนความเสี่ยง เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ต้องการ Take Risk แต่ไม่มี Risk ให้ Take ก็เลยลดกิจกรรมการซื้อขายหุ้นลงไป

ความเงียบเหงาไม่ได้เกิดแค่ในตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว ยังเกิดขึ้นในตลาดพันธบัตร และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหลักๆ ด้วย ผ่านค่าดัชนีชี้วัดต่างๆ เช่น ดัชนีชี้วัดที่จัดทำโดย Merrill Lynch ก็สะท้อนความผันผวนของพันธบัตรก็ปรับตัวต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ดัชนีชี้วัดความผันผวนของค่าเงินในกลุ่ม G-7 จัดทำโดย JP Morgan Chase & Co. ก็ลดลงมากสุดในรอบ 2 ปี เป็นต้น

ความผันผวนที่ลดต่ำลงทั้งในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และอัตราแลกเปลี่ยน เป็นการบอกถึงอารมณ์นักลงทุนในทุกตลาดว่าไม่ได้มีมุมมองหรือลุ้นกันกับข่าวสารอันใกล้นี้เลย ทำให้กิจกรรมการโยกย้ายเงินเข้าออกในตลาดต่างๆเงียบไป การโยกย้ายเงินข้ามสินทรัพย์ (Asset Allocation) ก็เงียบไป ซึ่งสำหรับประเทศไทยเองก็ได้สะท้อนผ่านค่าเงินที่ค่อนข้างนิ่ง และกิจกรรมซื้อขายหุ้นจากต่างชาติที่เบาบาง ถึงแม้จะมีข่าวใหญ่อันใกล้คือ การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในกลางเดือนหน้า (มิ.ย.) แต่ถ้าดูจากค่า Fed Fund Futures ที่สะท้อนว่าในเดือนหน้ามีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้น 90% โอกาสที่สูงขนาดนี้ทำให้ไม่มีอะไรให้ลุ้นเลย นักลงทุนเกือบทั้งหมดมั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นแน่ในเดือนมิ.ย.นี้ เรียกได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยน ผลตอบแทนพันธบัตร ดัชนีราคาหุ้นได้สะท้อนดอกเบี้ยที่น่าจะปรับขึ้นไปหมดแล้ว

สถานการณ์ตรงนี้จะยาวนานไปถึงเมื่อไหร่ หรือ “Sell in May and go away” แต่ผมเชื่อว่าความเงียบเหงาแบบนี้ไม่เคยอยู่ได้นาน และตลาดน่าจะกลับมาครึกครื้นได้อีกในช่วงกลางเดือนหน้า หลังจากที่ Fed ประชุมเสร็จสิ้น การเก็งกำไรจะไปลุ้นกันที่สัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป ในแง่ว่าปีนี้จะปรับขึ้นอีก 1 ครั้งตามที่คาดกัน หรือปรับเพิ่มขึ้นมากกว่านั้น รวมทั้งช่วงเวลาในการปรับขึ้นครั้งต่อไป ซึ่งตอนนี้ตลาดคาดว่ามีโอกาส 48% ที่ Fed น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนก.ย. เราอาจคาดหวังว่าจะได้เห็นการเคลื่อนย้ายของเงินทุนที่ครึกครื้นเพิ่มขึ้นผ่านตลาดพันธบัตรและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

ทิ้งท้ายไว้ด้วยข่าวสารอีกเรื่องที่ผมเชื่อว่าจะทำให้ตลาดกับมาผันผวนอีกในช่วงครึ่งปีหลัง คือสัญญาณของ Fed ที่จะตัดสินใจดึงสภาพคล่องกลับคืนไป จากที่เคยอัดฉีดเข้ามาในระบบการเงินโลกผ่าน QE หรือที่เรียกว่าการลดขนาด Balance Sheet ลง ซึ่งมีวิธีการหลายแบบทั้งแบบเร่งด่วน เช่น การขายพันธบัตรออกมา หรือแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วยการถือพันธบัตรจนหมดอายุและไม่ลงทุนต่อ

ทั้งหมดนี้ผมเชื่อว่าเป็นข่าวสารที่จะค่อยๆ เข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ความผันผวนของตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก นักลงทุนที่เตรียม Sell in May and go away ในช่วงเดือนพ.ค.นี้ ยังไงก็อย่าลืมเกาะติดข่าวสารตรงนี้ดีๆ นะครับ