‘Insurance Tech’ มาแรงแซงโค้งกลุ่มฟินเทค

‘Insurance Tech’ มาแรงแซงโค้งกลุ่มฟินเทค

คอลัมน์ Rethink Unlink

เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจประกันภัย หรือ Insurance technology กำลังเริ่มเป็นที่จับตามองจากสตาร์ทอัพ และธุรกิจประกันภัย ที่เริ่มเห็นช่องว่างธุรกิจประกันดั้งเดิมกับการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำเสนอบริการที่แตกต่างด้วยการคิดเบี้ยประกันรูปแบบใหม่

การเข้ามาของโมเดลธุรกิจใหม่ Sharing Economy หรือ เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เช่น อูเบอร์ แอร์บีเอ็นบี ฯลฯ ทำให้รูปแบบธุรกิจพลิกโฉมไป จากการถือครองเป็นเจ้าของสินทรัพย์ กลายเป็นการให้เช่าแทน ทำให้ธุรกิจประกันและกฎหมายที่มีอยู่อาจไม่ครอบคลุม และทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ไหลบ่าอย่างรวดเร็วเช่นนี้ได้
ตัวอย่างเช่น บ้านที่เปิดห้องพักให้คนภายนอกอยู่อาศัยโดยล็อคอินผ่านแพลตฟอร์มของแอร์บีเอ็นบี ขอบเขตกรมธรรม์ความคุ้มครองอาจถูกยกเลิกเนื่องจากผิดเงื่อนไขการทำประกัน

หรือการที่บริษัทประกันข้ามชาตินำเสนอบริการประกันข้อมูลโลกไซเบอร์ เนื่องด้วยปัจจุบัน มีจำนวนข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมหาศาลจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสูงขึ้น ทำให้ภัยคุกคามด้านไซเบอร์มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ข้อมูลจึงกลายเป็นสินทรัพย์สำคัญไม่แพ้ทรัพย์สินด้านอื่น

นอกจากนี้ การใช้งานอากาศยานอย่างโดรนเชิงพาณิชย์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น เริ่มมีบริษัทประกันบางแห่งเสนอประกันเฉพาะทางเกี่ยวกับการรับประกันโดรนยังไม่รวมบริษัทประกันเองที่เริ่มหันมาใช้โดรนสำรวจเพื่อประเมินความเสียหายทรัพย์สินกันบ้างแล้ว

รวมถึงการใช้อุปกรณ์สวมใส่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพื่อติดตามสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ฟิตเนส แทรคเกอร์ และสมาร์ท วอทช์ ทำให้การคิดเบี้ยประกันสุขภาพถูกลงตามผู้เอาประกันที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ต่ำ ซึ่งได้ข้อมูลจากการออกกำลังกายและการทำกิจกรรมต่างๆ นั่นเอง

ส่วนกรณีการขับรถยนต์ประเภทเป็นผู้ร่วมขับกับอูเบอร์ การประกันรถยนต์ที่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลจะครอบคลุมบุคคลที่สามในการให้บริการเชิงพาณิชย์หรือไม่ ตอบได้เลยว่า ประกันอูเบอร์จะคุ้มครองทั้งผู้ร่วมขับและผู้โดยสารอูเบอร์เฉพาะช่วงเวลาที่รับส่งผู้โดยสารเท่านั้น แต่ไม่คุ้มครองผู้ร่วมขับกรณีที่ตระเวนขับหาผู้โดยสาร

และในธุรกิจยานยนต์ที่มีการใช้ connected car อุปกรณ์เซ็นเซอร์เชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต บริษัทประกันรถยนต์รายไหนมีข้อมูลประมวลผลพฤติกรรมคนขับ พวกเขาจะสามารถเสนอเบี้ยประกันที่ต่ำลงให้เจ้าของรถยนต์ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์เทเลอินโฟเมติค เพื่อคอยตรวจสอบมารยาทที่ดีและพฤติกรรมขับขี่ได้

ในอนาคต หากมีการใช้ self-driving car แพร่หลาย ประกันภัยรถยนต์ต้องปรับตัวแก้ไขให้ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีด้วย

ข้อมูลจากแอคเซนเจอร์ ที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก มองว่าการให้น้ำหนักนักลงทุนจะขยับมาที่กลุ่มประกันภัยมากขึ้น จากข้อมูล CB Insight พบว่าปี 2558 มีดีลกลุ่มฟินเทค ที่ดึงดูดการลงทุนทั่วโลกกว่า 22.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก 75% จากปีก่อนหน้า ธุรกิจประกันหรือ Insurtech มีดีลมูลค่าราว 2.6 พันล้านดอลลาร์ ดูสัดส่วนอาจไม่มากนัก แต่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าถึง 800 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะไตรมาสแรกปี 2559 มีมูลค่าการลงทุนแล้ว 650 ล้านดอลลาร์จาก 45 ดีล

ทั้งนี้ นักลงทุนเริ่มให้ความสำคัญกับตลาดประกัน เนื่องจากมีมูลค่าเบี้ยประกันสูงกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีทั่วโลก ขณะที่ไทย มีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรวมมากกว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี

สถานการณ์เหล่านี้สร้างความท้าทายให้ธุรกิจประกัน และช่วยจุดประกายสร้างโอกาสใหม่ๆ นำเสนอบริการพิเศษเฉพาะให้ทั้งบริษัทประกันรูปแบบเดิม และธุรกิจสตาร์ทอัพ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสตาร์ทอัพ ยังมีความท้าทายด้านธุรกิจประกันไม่ต่างจากการให้บริการกลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารอื่น เพราะต้องมีหน่วยงานกำกับดูแล ให้การเข้าสู่ตลาดทำได้ไม่ง่ายนัก

ปัจจุบันในสหรัฐ เริ่มมีสตาร์ทอัพที่เสนอโมเดลธุรกิจใหม่ อย่าง Metromile เสนอการคิดค่าประกันรถยนต์ Per Mile Car Insurance ให้คนขับที่ใช้รถน้อยกว่ากว่าหมื่นไมล์ต่อปี และรองรับการขับแบบ Ride -sharing ด้วย

ทั้งหมดล้วนสร้างโอกาสมหาศาลให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง เพื่อตอบรับกระแสเศรษฐกิจใหม่หรือนิวอีโคโนมี ข้อมูลเชิงลึกจากคุณภาพข้อมูลที่ดีขึ้น แนวทางบริหารความเสี่ยงพร้อมการระดมทุน funding regulatory capital รวมถึงโครงสร้างใหม่ที่จะเข้าถึงลูกค้ารายใหม่

แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากสุดในนิวอีโคโนมี คือ คอนเซ็ปท์ประกันทรัพย์สินกำลังจะล้าสมัย และถูกแทนที่ด้วยประกันแบบจัสท์อินไทม์ที่ทำธุรกรรมผ่านมือถือซึ่งการพิจารณารับประกันภัยนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นเอง

นอกจากนี้ ธุรกิจประกันภัย กำลังมองหาแนวทางสร้างลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียล ที่เกิดในช่วง 1984-1996 หรือ เจนวาย ในไทยคนกลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 20 ล้านคน และสร้างความท้าทายเข้าไปขายประกันแบบเดิมผ่านการขายทางโทรศัพท์ และต้องเปลี่ยนการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ในช่องทางดิจิทัล

ส่วนของหน่วยงานกำกับดูแล อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ) ต้องเร่งปรับปรุงระเบียบการให้รองรับกระแสที่เชี่ยวกรากแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีให้ทันท่วงทีเช่นเดียวกัน