เมื่อเศรษฐกิจจีนส่อแวว...ชะงัก

เมื่อเศรษฐกิจจีนส่อแวว...ชะงัก

เมื่อเศรษฐกิจจีนส่อแวว...ชะงัก

แม้ความกังวลว่าจีนจะเกิด Hard Landing ที่เคยกดดันตลาดจนเกิดแรงเทขายครั้งใหญ่ในปี 2558 นั้นได้ผ่านไปแล้ว แต่ตลาดยังคงพูดถึงความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงกันเรื่อยมา ทั้งนี้ คาดการณ์ GDP ปี 2560 ของจีนอยู่ที่ 6.5% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 6.7%

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปี 2560 เศรษฐกิจจีนกลับเติบโตดีสวนทางกับคาดการณ์ต่างๆ เพราะได้แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัว นำโดยสหรัฐฯ ส่งผลให้ภาคการผลิตและส่งออกฟื้นตัวตาม บรรยากาศการลงทุนกลับมาแจ่มใสอีกครั้ง ทำให้ GDP จีนในไตรมาส 1 ขยายตัวดีถึง 6.9% ดัชนีราคาหุ้นจีน Shanghai Composite ปรับขึ้นว่า 5.9% ไปแตะจุดสูงสุดของปีในช่วงกลางเดือนเมษายน ก่อนที่ท้องฟ้าอันสดใสเริ่มก่อเมฆครึ้ม ดัชนี Shanghai Composite ปรับลงต่อเนื่อง สัปดาห์ติดต่อกัน โดยลดลงไป 6.5% จากจุดสูงสุด ตลาดตราสารหนี้ถูกกดดันเช่นเดียวกัน ทำให้ Yieldพันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลจีนปรับขึ้น 56 bps สู่จุดสูงสุดในรอบ ปีมาอยู่ที่ 3.62% (Yield ขี้น ราคาตก)

อะไรคือสาเหตุที่กดดันตลาดทุนจีนในครั้งนี้ คำตอบอยู่ที่เป้าหมาย GDP จีนปี 2560 ที่ 6.5% นั่นเอง เนื่องจากรัฐบาลจีนแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ เพื่อรักษา GDP ให้สูงดังเช่นในอดีต แต่จะเน้นรักษาเสถียรภาพระยะยาว และลงมือแก้ไขปัญหาเฉพาะตัวที่สำคัญของจีน ซึ่งถูกจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาบ้านในเมืองใหญ่ที่สุ่มเสี่ยงต่อสภาวะฟองสบู่ และปัญหาหนี้ภาคเอกชนที่สูง ดังนั้นรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการจัดการหนี้ที่เข้มงวดขึ้น เช่น 1) เพิ่มดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (Repo Rate) และเงินกู้ระยะปานกลาง หรือ MLF (Medium-term Lending Facility) เพื่อลดการเติบโตของเงินกู้ยืม และลดสภาพคล่อง 2) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ควบคุมการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ไม่ให้ขยายตัวสูงกว่าปีที่แล้ว และ 3) เพิ่มการตรวจสอบ Shadow Financing หรือหนี้นอกระบบ จึงส่งผลให้บรรยากาศโดยรวมในตลาดทุนซบเซาลง

นอกเหนือจากมาตรการของภาครัฐฯ ตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจในเดือนเมษายนก็เริ่มส่อแววชะลอตัว เริ่มจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ส่งสัญญาณอ่อนแรงลงในภาคการผลิตและการบริการเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และคาดการณ์ ทั้งการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ที่เน้นบริษัทขนาดใหญ่ หรือรัฐวิสาหกิจ และการสำรวจของ Caixin ที่เน้นบริษัทขนาดเล็ก หรือ SMEs 

นอกจากนี้ ตัวเลขด้านการค้าในเดือนเมษายนก็ชะลอลงเช่นเดียวกัน โดยส่งออกโตได้ 8% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 11.3% ขณะที่นำเข้าเติบโตที่ 11.9% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 18% ในสภาวะที่การเติบโตของเศรษฐกิจจีนเริ่มเสียโมเมนตัม มาตรการควบคุมของรัฐบาลก็จะทำได้ยากขึ้น เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้โดยชะลอการปล่อยสินเชื่อ จะทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบลดลง เอกชนที่ไม่ได้เงินกู้จะชะลอลงทุน การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลง จะกดดันธนาคารกลางจี (PBoC) ให้ไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยตาม FED เพื่อรักษาส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยจีน และสหรัฐฯได้ และเมื่อช่องว่างดังกล่าวแคบลง เงินหยวนอาจจะถูกเทขายและอ่อนค่าลง แม้ว่าจะดีต่อภาคส่งออกจีน แต่ผลเสียโดยรวมมีมากกว่า โดยเฉพาะจะเป็นการจุดประเด็นการค้ากับ ปธน.ทรัมป์ ที่เคยกล่าวหาว่าจีนแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงกระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออก

อย่างไรก็ดี เรามองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลังของปี 2560 เป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว แรงเทขายในตลาดทุนน่าจะจำกัด และการแก้ปัญหาของภาครัฐฯ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนจีนในระยะยาว

คาดการณ์ GDP จีนถูกปรับลดอย่างต่อเนื่อง ไม่น่าจะสร้างความตื่นตระหนกให้ตลาด

ที่มา: Bloomberg, KPB Research