เสรีภาพกับความรับผิดชอบสื่อในศตวรรษที่ 21 (1) :

เสรีภาพกับความรับผิดชอบสื่อในศตวรรษที่ 21 (1) :

ทำไมไม่ควรใช้ใบอนุญาต?

ทีแรกผู้เขียนตั้งใจจะเขียนถึงเรื่อง open data / open government ต่อ เพราะมีตัวอย่างที่น่าสนใจมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่พอเห็นความพยายามอันน่าตระหนกตกใจ ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่จะออกกฎหมายมา “ควบคุม สื่อ ภายใต้ชื่อยาวเหยียดสวยหรูดูดี พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ก็อดไม่ได้ที่จะ แขวน ซีรีส์นั้นไว้ก่อน มาเขียนเรื่องสื่อแทน

ผู้เขียนไม่อยากอธิบายความเห็นต่อเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. สื่อ เนื่องจากยังมีอีกหลายขั้นตอนก่อนที่จะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีแนวโน้มว่าร่างกฎหมายเจ้าปัญหานี้จะถูกแก้ไขในหลายประเด็น อีกทั้งยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผู้เขียนสังเกตว่าการถกเถียงเรื่องร่างกฎหมายนี้เต็มไปด้วยความเข้าใจผิด อคติ วาระซ่อนเร้น และการจับแพะชนแกะระหว่างประเด็นต่างๆ มากมาย จนยากที่จะถกเถียงอภิปรายกันได้ด้วยเหตุผล เพราะบางทีพูดกันคนละเรื่อง!

มาเริ่มต้นที่คำถามพื้นฐานกันก่อนดีกว่าว่า ตกลงคนที่ประกอบอาชีพ สื่อควรต้องมีใบอนุญาต คล้ายกับแพทย์ นักบัญชี หรือวิศวกรหรือไม่?

มองในแง่ดี ผู้เขียนคิดว่าคนที่เสนอไอเดียนี้ไม่ได้มีเจตนาร้ายอันใด น่าจะเสนอด้วยเจตนาดีที่อยากเห็นวงการสื่อพัฒนา สื่อยึดมั่นในจรรยาบรรณมากกว่าที่แล้วมา (ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาสื่อมีส่วนสร้างปัญหาจริงๆ ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์)

แต่ใบอนุญาตไม่เพียงแต่ไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผลเท่านั้น แต่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่ามันจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน

ผู้เขียนคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมามองเห็นร่วมกันว่า ใบอนุญาตสื่อเป็นความคิดที่ พ้นสมัย” ไปนานมากแล้ว และถ้าดูทั่วโลกก็จะพบว่ามันพ้นไปแล้วจริงๆ ยกเว้นบางประเทศเท่านั้นที่ยังไม่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย – และไม่สนใจจะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย

แล้วทำไมสื่อถึงไม่ควรต้องมีใบอนุญาต แตกต่างจากวิชาชีพอย่าง แพทย์ วิศวกร ผู้สอบบัญชีตรงไหน?

ผู้เขียนคิดว่ามีสองเหตุผลพื้นฐานหลักๆ ด้วยกัน ข้อแรกเกี่ยวกับ “ธรรมชาติ” ของการทำหน้าที่สื่อ ซึ่งทำให้ใบอนุญาต ใช้การไม่ได้ ในทางปฏิบัติ ข้อสองเกี่ยวกับแนวโน้มสูงที่ใบอนุญาตจะนำไปสู่การปิดปากคุกคามสื่อ ลดทอนความหลากหลายของการแสดงความคิดเห็น ซึ่งขาดไม่ได้เลยในการพัฒนาสังคมในระบอบประชาธิปไตย

มาดูเหตุผลข้อแรก ว่าด้วย ธรรมชาติ” ของสื่อกันก่อน

ถ้าเราจะมีระบบใบอนุญาต (ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ออกใบอนุญาตนั้นให้) เพื่อ “รับรอง” ว่าบุคคลนั้นๆ มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเรียกขานว่า “สื่อ” คำถามแรกก็คือ เราจะนิยาม ผู้ประกอบวิชาชีพสื่ออย่างไร?

ถ้าบอกว่าต้องสังกัดค่ายสื่อ นักข่าวเก่งๆ หลายคนก็ไร้สังกัด แต่เป็นมือปืนรับจ้าง ทำข่าวที่ตัวเองสนใจแล้วหาพื้นที่ลง หรือรับงานเป็นเรื่องๆ ไป

ถ้าบอกว่าต้องมีปริญญาด้านวารสารศาสตร์ นักข่าวจำนวนมากวันนี้ก็ไม่มี บรรณาธิการข่าวอาวุโสหลายท่านบอกผู้เขียนว่าไม่จำเป็นต้องมี (บางท่านสำทับด้วยว่า จริงๆ แล้วอยากได้คนที่จบรัฐศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์มากกว่าวารสารศาสตร์ด้วยซ้ำไป เพราะคณะวารสารศาสตร์หลายแห่งวันนี้ด้อยคุณภาพ นักข่าวจบมารู้แต่เทคนิคการทำข่าว แต่มีความรู้รอบตัวน้อยมากและแทบไม่รู้เนื้อหาสาระอะไรเลย)

ถ้าบอกว่าต้องมีรายได้หลักจากการรายงานข่าว คนจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้ประกอบอาชีพ นักข่าว แต่เขียน พูด หรือขุดคุ้ยประเด็นสาธารณะได้อย่างทรงพลัง และบางครั้งก็ส่งผลสะเทือนได้ยิ่งกว่าค่ายสื่อยักษ์ใหญ่ และเราก็มีตัวอย่างมากมายของ “สื่อพลเมือง หลายคนที่กล้าหาญออกมาแฉความไม่ชอบมาพากลหรือตีแผ่การทำงานของรัฐอย่างเข้มข้น

นิยามไปนิยามมา สุดท้ายผู้เขียนคิดว่านิยามไม่ได้หรอก เพราะถึงที่สุดแล้ว งานข่าว” (โดยเฉพาะสมัยนี้ที่ใครๆ ก็ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวทีขยายเสียงได้) คือ สิ่งที่เราทำ มากกว่า “สิ่งที่เราเป็น

ใครก็ตามที่รายงานประเด็นสาธารณะต่อสาธารณะ เขาผู้นั้นก็กำลัง “ทำหน้าที่สื่อ” ณ จุดนั้น แม้อาจไม่ได้เป็นนักข่าวอาชีพก็ตาม (จะเป็นสื่อที่ดีหรือไม่ดี ทำตามจรรยาบรรณสื่อแค่ไหนเพียงใด นั่นอีกเรื่อง)

การนิยามสื่อเพื่อออกใบอนุญาต ถ้าอยากจะนิยามให้ครอบคลุม จึงแทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะวันนี้ “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน” ไม่ใช่เพียงเพราะ(เราคาดหวังให้)สื่ออาชีพเป็นปากเสียงแทนประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะประชาชนทุกคนวันนี้สามารถเป็นสื่อได้ ไม่ทุกวันก็บางวัน บางชั่วโมง

(ในแง่นี้ เราจึงไม่ควรเปรียบเทียบสื่อกับวิชาชีพที่จำเป็นจะต้องมีมาตรฐานและทักษะทางเทคนิคสูงอย่างเช่นแพทย์หรือวิศวกร อยู่ดีๆ ผู้เขียนอยากลองทำหน้าที่แพทย์ผ่าตัดสักสองชั่วโมง หรือเป็นวิศวกรออกแบบทางด่วนสักสามชั่วโมง คงไม่มีใครยอม)

คงไม่มีใครบ้าจี้คิดว่าประชาชนทุกคนควรมีใบอนุญาตสื่อติดตัว!

เหตุผลพื้นฐานข้อสองที่ผู้เขียนคิดว่า แนวคิดเรื่องใบอนุญาต “พ้นสมัย” ไปแล้ว คือ ความขัดแย้งโดยธรรมชาติระหว่างสื่อกับผู้มีอำนาจ

สื่อทำหน้าที่อะไรใครๆ ก็คงตอบได้ไม่ยากว่า เราคาดหวังให้สื่อนำเสนอประเด็นสาธารณะที่สำคัญ และติดตามตรวจสอบผู้มีอำนาจและอิทธิพล ทั้งรัฐและเอกชน

ยิ่งสื่อจิกกัดเกาะติดไม่ปล่อย ยิ่งขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ของผู้มีอำนาจและนำมาตีแผ่ สื่อยิ่งทำประโยชน์และเรายิ่งชื่นชม แต่แน่นอนว่ายิ่งทำแบบนี้ ผู้มีอำนาจยิ่งไม่ชอบ

ในเมื่อสื่อเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” โดยธรรมชาติของผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจยิ่งมีแรงจูงใจที่จะควบคุมสื่อไม่ว่ายุคไหน และเรา (ประชาชน) ก็จะยิ่งอยากคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อ ไม่ให้รัฐมาละเมิดได้

แนวคิดเรื่องใบอนุญาต ซึ่งจะมอบอำนาจให้คนกลุ่มหนึ่ง (แม้แต่สื่อด้วยกันเองก็ตาม) มีสิทธิมากำหนดชุดคุณสมบัติของคนที่ตนจะ รับรอง” ว่าเป็นสื่อ จึงเข้ากันไม่ได้เลยกับแนวคิดเรื่องเสรีภาพสื่อ และจะสร้างแนวโน้มที่ผู้ออกใบอนุญาตจะกำหนดคุณสมบัติในทางที่เข้าข้างสื่อบางค่าย ปิดปากสื่อค่ายอื่นที่อยู่คนละขั้ว ผลลัพธ์คือการลดทอนความหลากหลายของสื่อ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

สำหรับคนที่เชื่อว่า การออกใบอนุญาตจะช่วยกระตุ้นให้สื่อมีความรับผิดชอบมากขึ้น ผู้เขียนขอตอบสั้นๆ ว่า เราไม่มีวันทำให้สื่อ (หรือใครก็ตาม) มีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วยการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเขา

คำถามต่อไปคือ ถ้าไม่ใช้ใบอนุญาต เราจะแก้ปัญหาสื่อไร้จรรยาบรรณ ขาดความรับผิดชอบ ฯลฯ อย่างไร ในเมื่อก็เห็นแล้วว่ากลไกกำกับดูแลกันเองของสื่อที่ผ่านมาไร้ประสิทธิภาพ?

โปรดติดตามตอนต่อไป