ถอดรหัสแนวคิด “Fairphone” ผู้ผลิตมือถือจริยธรรม

ถอดรหัสแนวคิด “Fairphone” ผู้ผลิตมือถือจริยธรรม

สวัสดีค่ะ หลายท่านโดยเฉพาะใครที่เป็นคอไอที ติดตามเทรนด์อย่างแก็ตเจ๊ตหรือมือถือรุ่นใหม่ๆ อยู่เสมอ

คงเคยได้ยินโทรศัพท์มือถือในชื่อแบรนด์ “Fairphone”หรือ “แฟร์โฟน” กันมาบ้างนะคะ

แฟร์โฟนคือกิจการเพื่อสังคมจากเนเธอร์แลนด์ ที่ผลิตสมาร์ทโฟนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ “เป็นธรรม” ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply chain ในการผลิต เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ระหว่างตัวผลิตภัณฑ์และลูกค้าที่ใช้ และสร้างผลกระทบในเชิงบวกตลอดทั้งห่วงโซ่แห่งคุณค่าที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการทำเหมืองแร่ที่เป็นองค์ประกอบของแต่ละชิ้นส่วน ตลอดจนการออกแบบ การผลิต และอายุการใช้งาน

โจทย์ของแฟร์โฟนคือการขยายแนวคิดของ “ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตอย่างมีคุณธรรม” หรือ Ethical product โดยให้ความสำคัญใน 4 ด้านด้วยกัน ดังนี้ค่ะ

  1. ส่วนประกอบที่เป็นธรรม (Fair materials) แร่และโลหะต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่นั้นมาจากห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ ซึ่งมักมีปัญหาด้านการดำเนินการอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยมลภาวะ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น แรงงานเด็ก แฟร์โฟนจึงพยายามเลือกส่วนประกอบต่างๆ อย่างรับผิดชอบ โดยปัจจุบันโทรศัพท์รุ่นล่าสุดคือ “แฟร์โฟน 2” มีการใช้แร่ต่างๆ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบอาทิ ดีบุก ทังสเตน หรือทอง โดยทั้งหมดเป็นแร่ที่ปราศจากความขัดแย้ง (conflict minerals) อาทิไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่มีการประท้วงเหมืองแร่นั้นๆ รวมถึงเป็นวัตถุที่ไม่มีพิษหรืออันตราย และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
  2. สภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ปัจจุบันฐานการผลิตสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีนด้วยกำลังการผลิตสูงถึงเกือบ 1 พันล้านเครื่องต่อปี ซึ่งด้วยฐานการผลิตที่ใหญ่มหาศาลในจีนทำให้แรงงานได้รับผลกระทบแฟร์โฟนจึงต้องการพัฒนาสภาวะแวดล้อมในการทำงาน สุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานเหล่านี้ให้ดีขึ้น รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัย และ NGO ต่างๆ ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงานเหล่านั้นให้ดีขึ้น 
  3. การออกแบบที่อยู่ได้ยาวนานแฟร์โฟนออกแบบโทรศัพท์ที่สามารถอยู่ได้นานและซ่อมได้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่มักถูกมองว่าเป็นของที่ใช้แล้วทิ้ง ปัจจุบันมือถือทั่วไปมีอายุการใช้งานเฉลี่ยเพียง 18 เดือน ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายตามมา เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือซ่อมแซมได้ จึงต้องทิ้งในที่สุด มือถือของแฟร์โฟนจึงถูกออกแบบมาให้เป็น Modular phone สามารถประกอบ/เปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย อาทิ หากเกิดอุบัติจอแตกก็สามารถเปลี่ยนแค่หน้าจอได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องการจำหน่ายอะไหล่ต่างๆ ให้ผู้ใช้บริการซื้อไปเปลี่ยนได้อย่างสะดวก และการใช้ Open software ที่ช่วยในการซ่อมบำรุง เป็นต้น
  4. การใช้ซ้ำและรีไซเคิล กระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการใช้ซ้ำ ซ่อมแซม และรีไซเคิล เพื่อลดจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก เนื่องจากทุกปีมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะมือถือนับล้านเครื่อง ซึ่งบางครั้งขยะเหล่านั้นก็มีการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม แต่บางครั้งก็อันตราย แฟร์โฟนจึงจำหน่ายชิ้นส่วนสำรอง และสอนการซ่อมแซม เพื่อให้มือถือมีอายุการใช้งานนานที่สุด รวมถึงยังมีโครงการส่งเสริมให้นำมือถือแฟร์โฟนกลับมาใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิล และยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่มีปัญหาในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์

จากกิจการเพื่อสังคมที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 ปัจจุบันแฟร์โฟนมีทีมงานทั้งสิ้น 60 คน จาก 22 ประเทศทั่วโลกจำหน่ายมือถือไปได้แล้วกว่า 1 แสนเครื่องทั่วโลก และมีการเปิดเผยรายละเอียดต้นทุนของมือถือ (ปัจจุบันคือรุ่น Fairphone 2) รวมถึงแหล่งที่มาของชิ้นส่วนต่างๆ และรายการผลการรีไซเคิล (Report on Recyclability) ในเวบไซต์อย่างครบถ้วน

นับว่าเป็นธุรกิจน้ำดีที่น่าสนใจอีกราย ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด “A better phone is a phone made better” เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กลับคืนสู่สังคม ด้วยโทรศัพท์มือถือที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ค่ะ