ทำความรู้จักค่า P/E..

ทำความรู้จักค่า P/E..

ทำความรู้จักค่า P/E..

ถ้าพูดถึงเครื่องมือที่สามารถช่วยบอกความถูกแพงของหุ้นและยังสามารถช่วยในการหามูลค่าที่เหมาะสมได้... ค่า P/E น่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นิยมและถูกนำมาใช้มากที่สุดด้วยวิธีการคํานวณที่ไม่ยุ่งยาก ทำให้นักลงทุนใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในด้านของการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยทางพื้นฐาน

ค่า P/E หรือ Price to Earning ratio ก็คือ…อัตราส่วนระหว่างราคาของหุ้นและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้นๆ หรือ ค่ากำไรต่อหุ้น EPS : (Earnings Per Share)

วิธีคิดให้นำราคาตลาดของหุ้น (P) มาหารด้วยอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS)… ค่า P/E… ที่ได้มาจึงเป็นเหมือน “ตัวคูณ” 

ที่บ่งบอกว่านักลงทุนยอมจ่ายแพงแค่ไหนเพื่อแลกกับกำไรของบริษัท เช่น P/E 10 เท่า แปลว่า นักลงทุนยอมจ่ายเงินซื้อหุ้น 10 บาท ต่อผลกำไรบริษัท 1 บาท..

หรืออาจมองค่า P/E เป็นตัวช่วยเพื่อบอกว่า ณ ราคาที่เราซื้อนั้นต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะคืนทุน.. เช่น ซื้อหุ้นราคา 100 บาท บริษัทมีกำไรต่อหุ้น 5 บาท… สมมุติว่าการเติบโตของบริษัทและกำไรคงที่ในอนาคต เราจะต้องใช้เวลา 20 ปี ถึงจะเท่าทุน.. ก็คือ P/E 20 เท่า นั่นเอง..

แล้วหุ้นที่ ไม่มีค่า P/E ละแปลว่าอะไร..? …ก็เพราะว่าบางบริษัทอาจไม่มีกำไร หรือ เกิดขาดทุนในบางปี ทำให้ไม่สามารถคำนวณหาค่า P/E ได้…

เรามักได้ยินว่าหุ้นยิ่ง P/E ต่ำยิ่งดี.. เพราะแปลว่าหุ้นตัวนี้ “ถูก”… ซึ่งการตีความง่ายๆ แบบนี้อาจไม่เหมาะสมซะทีเดียว เพราะความซับซ้อนของการใช้ค่า P/E นั้นจะอยู่ที่การตีความหมาย จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์ต้องดูให้ลึกกว่านั้น… เช่นถ้า P/E ต่ำเพราะเกิดจากกำไรเติบโตสูง ในขณะที่ราคาหุ้นยังต่ำอาจเพราะคนยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก แบบนี้ถือว่าคุณได้เจอหุ้นที่ถูกและมีโอกาสทำกำไรได้สูง.. แต่ถ้าหากบริษัทไม่มีการเติบโตเลย กำไรลดลง ราคาหุ้นก็ต่ำลงเรื่อยๆเนื่องจากพื้นฐานบริษัทไม่ดี แบบนี้ถึงจะ P/E ต่ำก็ไม่ได้แปลว่าเป็นหุ้นที่ถูก…

ปัญหาที่พบได้บ่อยของมือใหม่ก็คือการรีบขายหุ้นที่ P/E สูงๆ และซื้อหุ้นที่ P/E ต่ำๆ… แต่ว่าทุกอย่างย่อมมีเหตุผลของมันเสมอ.. อย่าลืมว่าราคานั้นมักสะท้อนความคาดหวังต่างๆ ของนักลงทุนไปล่วงหน้าแล้ว.. P/E สูง อาจจะแปลว่า “หุ้นแพง”เเต่เพราะว่า มันสมควรเเพงรึเปล่า …ส่วน P/E ต่ำ อาจจะแปลว่า “หุ้นถูก” แต่เพราะว่า มันสมควรถูกรึป่าว… เพราะ P นั้น เปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่ E นั้น เเค่ไตรมาสละ 1 ครั้ง 

โดยข้อมูลปกติทั่วไปที่คุณเห็นจะเป็น การเอาค่า E ของ 4  ไตรมาสย้อนหลังมาคำนวณ…หรือที่เราเรียกว่า Trailing P/E  …แต่การซื้อหุ้น เราต้องมองอนาคตของธุรกิจว่าควรจะมี P/E ที่เหมาะสมที่เท่าไร หรือ เราเรียกว่า Forward P/E..นั้นเอง!! (เครดิต ส่วนงาน Fixed income & Unit Trust Trading Division BLS)

ตัวอย่างในการประเมินหาเป้าหมายดัชนีฯ จากค่า PE…อ้างอิงจากประมาณการกำไรปี 2560 เทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะเวลา 10 ปี หุ้นไทยอยู่ในระดับแพงปานกลาง ในขณะที่ส่วนลดค่า PER เทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนยังคงแคบลงที่ 6% ทำให้อัพไซต์อาจมีจำกัด เราประเมินเป้าหมาย ดัชนีตลาดหุ้นไทยในกรณีพื้นฐานของเราสำหรับสิ้นปี 2560 ที่ 1,627 จุด (ปรับลงจาก 1,670 จุดก่อนหน้านี้) เพื่อสะท้อนสมมติฐานกำไรสุทธิต่อหุ้นที่ต่ำลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯทั้ง 3 ครั้งในปีนี้ (จาก 2 ครั้งที่คาดการณ์ไว้) โดยเป้าหมายใหม่อ้างอิงจากค่า PER ปี 2560 อยู่ที่ 15.8 เท่า(กำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 103) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเบี่ยงเบนมาตรฐานระยะยาวที่ 1.2 เท่าของค่าเฉลี่ย (13 เท่า)

อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ อาจมีอัพไซต์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐฯที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะเวลา 10 ปี ปรับขึ้นน้อยกว่าดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ), การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและประมาณการกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น...