ยุโรปมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง

ยุโรปมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง

ยุโรปมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง

เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การลงทุนในตลาดยุโรปไม่น่าสนใจ เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนเหมือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการเลือกตั้งในหลายประเทศในยุโรปในปีนี้ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าผู้ที่มีแนวคิดสนับสนุนการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อาจจะได้รับชัยชนะ และอาจนำไปสู่การล่มสลายของอียูต่อไป 

โดยได้มีการบัญญัติคำใหม่ไว้ล่วงหน้า ทั้ง Nexit สำหรับเนเธอร์แลนด์ และ Frexit สำหรับฝรั่งเศส รวมถึงความเสี่ยงจากผลกระทบของ Breixt และความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในยุโรป ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ส่งผลให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปในเชิงลบ

แต่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจยุโรปมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยเฉพาะดัชนีชี้นำอย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index: PMI) ของยูโรโซนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ผลการเลือกตั้งของทั้งเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส ฝ่ายที่สนับสนุนการคงสถานะการเป็นสมาชิกอียูชนะอย่างขาดลอยในทั้ง 2 ประเทศ ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมืองในยุโรปลดลง

ในแง่ของตัวเลขเศรษฐกิจ ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 0.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และโต 1.8% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัว 0.7% ต่อปี ในขณะที่ PMI ของยูโรโซนในเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี และยังคงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดย PMI ของยูโรโซนในเดือนเมษายนบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาส 2/60 อาจจะขยายตัวราว 0.7% จากไตรมาสก่อนหน้า 

นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะของเยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน ยังคงบ่งชี้ไปในเชิงบวก เช่น ผลผลิตและคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่แข็งแกร่ง ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและธุรกิจของเยอรมนีอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด และการส่งออกของยูโรโซนอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เป็นต้น

ในส่วนของตลาดหุ้นยุโรป ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองทุนรวมของไทยที่ลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปให้ผลตอบแทนระหว่าง 7.63% - 15.15% เมื่อเทียบกับกองทุนรวมหุ้นไทยให้ผลตอบแทนระหว่าง -9.50% - 10.58% กองทุนรวมหุ้นสหรัฐฯให้ผลตอบแทนระหว่าง -4.79% - 15.09% กองทุนรวมหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนระหว่าง -1.59% - 7.78% และกองทุนรวมหุ้นจีนให้ผลตอบแทนระหว่าง -0.01% - 14.87% จะเห็นได้ว่ากองทุนรวมที่ลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปตั้งแต่ต้นปีมานี้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงที่สุด

จะเห็นได้ว่า ประโยคคลาสสิคของ Warren Buffett ที่ผมมักจะยกมากล่าวถึงเสมออย่าง “Fearful when others are greedy and greedy when others are fearful” ซึ่งแปลได้ว่า “จงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ และจงโลภเมื่อคนอื่นกลัว” ใช้ได้ดีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ กล่าวคือ ในช่วงต้นปีที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนใหญ่ต่างกลัวการลงทุนในตลาดยุโรป หากนักลงทุนท่านใดฝ่าความกลัวเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปจนถึงสิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็น่าจะมีความสุขกับการได้รับผลตอบแทนที่ดี

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปในระยะต่อจากนี้ ก็ยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยหน่วยงานต่างๆในยุโรปเริ่มทยอยปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปขึ้น และดัชนีชี้นำต่างๆ โดยเฉพาะ PMI ที่บ่งชี้ว่าคำสั่งซื้อสินค้าและบริการยังคงอยู่ในระดับสูง และเริ่มมีสัญญาณว่าผู้ผลิตเริ่มส่งมอบสินค้าไม่ทันเนื่องจากมีคำสั่งเข้ามามาก 

ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มส่งสัญญาณถึงความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปมากขึ้น ท่ามกลางนโยบายการเงินที่ยังคงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในส่วนความกังวลเกี่ยวกับการที่สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกอียูเริ่มเบาบางลง เนื่องจากตลาดมองว่ายังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกนานในการเจรจา อีกทั้งนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษระบุว่า อาจมีการจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าชาวอังกฤษต้องการเป็นสมาชิกอียูจริงๆ ก็อาจส่งผลให้ฝ่ายที่สนับสนุนการคงสถานะเป็นสมาชิกอียูกลับมาครองเสียงข้างมาก และล้มเลิกแผนการออกจากอียูก็เป็นได้

โดยรวมแล้ว ถึงแม้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นมาพอสมควรแล้วในปีนี้ แต่ก็ยังคงมีความน่าสนใจ และนักวิเคราะห์ในตลาดยังคงให้ความเห็นต่อการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปอย่างระมัดระวัง ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นยุโรปอาจจะยังสะท้อนปัจจัยบวกไม่เต็มที่ เนื่องจากยังคงมีความกลัวในตลาดอยู่ ดังนั้น นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ก็อาจรับการลงทุนในกองทุนรวมตลาดหุ้นยุโรปไว้พิจารณาครับ