สำเร็จด้วยข้อมูล

สำเร็จด้วยข้อมูล

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตั้งกองทุนวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ

และความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่มาลงทะเบียนกับภาครัฐเพื่อขอรับสวัสดิการ ซึ่งรัฐบาลเตรียมนำมาใช้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 โดยจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค.ปีนี้ และความน่าสนใจของกองทุนนี้อยู่ตรงที่จะเป็นกองทุนหมุนเวียนระยะยาวและมีตัวบทกฎหมายออกมาเพื่อรองรับการใช้จ่ายและมาตรการช่วยเหลือตามนโยบายของรัฐบาล นับว่ามีความแตกต่างจากก่อนหน้านั้นที่มักจะเป็นมาตรการชั่วคราวและใช้งบประมาณเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น 

หากติดตามนโยบายสำคัญอันหนึ่งของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น คือจะยกเลิกนโยบายลดแลกแจกแถมในลักษณะประชานิยม แต่พยายามจะออกมาตรการที่เป็นการช่วยเหลือระยะยาว กล่าวคือ เมื่อได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว ก็น่าจะทำให้ประชาชนสามารถพัฒนาตัวเอง ทั้งทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ปรากฏว่ากว่า 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะพยายามมากน้อยแค่ไหน ในที่สุดแล้วรัฐบาลก็ยังมีมาตรการเดิมๆออกมาใช้เป็นระยะ อาทิ รถเมล์-รถไฟฟรี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การตั้งกองทุนในครั้งนี้ และมาตรการอื่นๆ ที่เคยเป็นมาตรการทั่วไปที่ไม่มีเป้าหมายที่แน่ชัด ว่าเป็นใครที่ได้รับประโยชน์นั้นกำลังจะถูกยกเลิก หลังจากที่รัฐบาลลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากสวัสดิการของรัฐบาล ซึ่งจะหมดเขตในวันที่ 14 พ.ค.นี้ และคาดว่าจะมีตัวเลขผู้มาลงทะเบียนกว่า 14 ล้านคน ซึ่งถือว่าค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั่วประเทศที่มีอยู่ราว 70 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งถือว่ามีจำนวนไม่น้อยหากเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

รัฐบาลหวังว่าการจัดตั้งกองทุนในครั้งนี้ น่าจะเป็นกลไกทำให้เกิดการแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มาลงทุนทะเบียน เพราะปัจจุบันคนหลายๆกลุ่มได้เข้าถึงสวัสดิการทางสังคมที่เริ่มต้นมานานนับสิบปี อาทิ กองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานในระบบ ในขณะที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจก็มีสวัสดิการภาครัฐมากมายช่วยเหลือ ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายที่มีราว 15 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มที่ไม่อาจเข้าถึงสวัสดิการที่ดีได้ อีกทั้งรายได้และฐานะถือเป็นคนมีรายได้น้อย จึงถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งหากรัฐบาลตั้งเป้าหมายต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

ความพยายามของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนให้ตรงเป้าหมายที่สุด แทนที่การออกนโยบายแบบเหมารวม อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลในอดีตมักจะออกมาเพื่อหวังสร้างคะแนนนิยม อีกทั้งบางนโยบายก็มีอคติทางการเมือง ในเรื่องของการรักษาฐานคะแนนเสียงเป็นสำคัญ ดังนั้น การออกนโยบายที่ตรงจุดและกลุ่มเป้าหมายที่สุด มีประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อมูลภาครัฐมีความทันสมัยและเพียงพอหรือไม่ ซึ่งดูเหมือนว่าที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐมักจะมีปัญหาในเรื่องข้อมูลพื้นฐานพอสมควร ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถมีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพพอ ก็จะทำให้นโยบายนี้ได้ผลตามเป้าหมาย แต่หากมีความคลาดเคลื่อน นโยบายนี้ก็คงไม่ต่างจากอดีต ซึ่งข้อมูลของภาครัฐนั่นเองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นโยบายนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่