Trumponomics (5): อนาคตของธนาคารในฐานะปลิงดูดเลือด

Trumponomics (5): อนาคตของธนาคารในฐานะปลิงดูดเลือด

“ธนาคารพาณิชย์คือปลิงดูดเลือดสังคมไทย” อาจารย์นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของไทยท่านหนึ่ง เคยกล่าวไว้เมื่อกว่า 4 ทศวรรษมาแล้ว

แม้อาจารย์ท่านนั้นอาจจะละเลยที่จะพูดถึง ประโยชน์ของธนาคารพาณิชย์ต่อเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงที่สถาบันการเงินต้องแบกรับไว้เอง แต่หากใช้ตรรกะเดียวกัน ธนาคารระดับโลกก็อาจไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2551-52 (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์) ที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ทำกระบวนการ “วิศวกรรมทางการเงิน” (Financial Engineering) โดยนำสินเชื่ออสังหาฯ ไปสร้างเป็นอนุพันธ์ทางการเงินและนำไปทำธุรกรรมจนเกิดวิกฤติขึ้น

หรือในระยะหลัง ที่ว่าสถาบันการเงินในซีกโลกตะวันตกมีปัญหาและเผชิญวิกฤติศรัทธาต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปัญหา Northern Rock ในอังกฤษที่นำไปสู่การแห่ถอนเงิน ปัญหา Deutsche Bank ในเยอรมนีปล่อยกู้สุ่มเสี่ยง ปัญหาธนาคารในอิตาลีที่เกือบล้มละลายจนรัฐต้องเข้าไปอุ้ม รวมถึงธนาคาร Wells Fargo ในสหรัฐที่เปิดบัญชีผีก็ตาม

ดังนั้น เมื่อมีข่าวที่ว่าประธานาธิบดีทรัมพ์จะผ่อนคลายกฎระเบียบกำกับสถาบันการเงิน คำถามที่ถูกตั้งขึ้นคือ "ถูกต้องแล้วหรือ" และหากทำได้จริง จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ภาคธนาคารจะนำโลกไปสู่วิกฤติอีกครั้งหรือไม่

เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ บทความนี้จะขอกล่าวถึงใน 2 จุดคือ (1) พัฒนาการภาคธนาคารหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์โดยสังเขป และสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และ (2) ข้อเสนอของทรัมพ์รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในส่วนของพัฒนาการที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น หลังจากที่ภาคการเงินเป็นกลจักรสำคัญที่นำไปสู่วิกฤตแล้วนั้น ทางแก้ของทางการสมัยนั้นแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยในสหรัฐ รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุน TARP (Trouble Asset Relieve Program) เข้าเพิ่มทุนสถาบันการเงินทันที ในขณะที่ในยุโรปกลับยังไม่รีบเพิ่มทุน ฉะนั้นปัญหาจึงเรื้อรังกว่า นอกจากนั้น ธนาคารกลางขนาดใหญ่ต่างลดดอกเบี้ย รวมถึงทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อให้อัดฉีดสภาพคล่องให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ง่ายขึ้น

แต่การณ์กลับเป็นตรงกันข้าม เพราะการทำ QE ซึ่งก็คือการซื้อพันธบัตรระยะยาวนั้น เป็นการกดดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำลง ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาว (ที่ธนาคารใช้อ้างอิงดอกเบี้ยเงินกู้) กับดอกเบี้ยระยะสั้น (ที่ใช้อ้างอิงดอกเบี้ยเงินฝาก) ไม่แตกต่างกัน ธนาคารจึงไม่มีแรงจูงใจในการปล่อยกู้มากนัก (เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนหรือปล่อยกู้ความเสี่ยงต่ำไม่คุ้มกับต้นทุนเงินฝาก) ธนาคารจึงต้องหันไปปล่อยกู้ (หรือลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น (ศัพท์ทางการเงินเรียกว่า หันไปเน้น Credit Risk แทน Duration Risk) ซึ่งเป็นเหตุของความเสี่ยงภาคการเงินโลกในระยะหลัง

ในส่วนของผู้กำหนดนโยบายนั้น นับตั้งแต่หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ ต้องออกกฎระเบียบให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมสุ่มเสี่ยงอีก แต่ก็กลับกลายเป็นว่ากฎระเบียบที่มากขึ้น เป็นต้นทุนทางการเงินให้กับภาคการเงินโดยรวม และก็เป็นส่วนทำให้ธนาคารทั้งหลายประสบปัญหาในปัจจุบันดังที่กล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ ผู้เขียนขอสรุปกฎระเบียบด้านการเงินที่เพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง ทั้งในระดับโลก ในสหรัฐ และยุโรป ดังนี้

ใน ระดับโลก ได้แก่กฎ Basel 3 ที่มีข้อกำหนดในการดำรงทุนเพิ่มขึ้น โดยทุนจะต้องมีความเสี่ยงต่ำมากและสภาพคล่องสูง ขณะที่ในการคำนวณสินทรัพย์เสี่ยง ต้องให้คะแนนความเสี่ยงไม่เท่ากัน รวมถึงต้องเพิ่มทุนเพื่อใช้เป็น “กันชน” ต่าง ๆ มากขึ้น และหากเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อระบบ ก็ยิ่งจำเป็นต้องเพิ่มทุนมากขึ้นไปอีก รวมถึงต้องมีสินทรัพย์เพียงพอต่อความเสี่ยงสภาพคล่องด้วย

ในสหรัฐ นอกจากกฎ Basel 3 แล้ว สิ่งที่ทางการสหรัฐเน้นหนักคือ (1) การทำ Stress Test หรือการวิเคราะห์ความเสี่ยงในสถานะการวิกฤติ โดยตั้งเหตุการณ์สมมุติว่าหากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว สถาบันการเงินจะต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ (เพื่อที่ยังไม่ล้มละลาย) และ (2) กฎหมาย Dodd-Frank ซึ่งมีกฎระเบียบหลายประการ แต่หนึ่งในนั้นคือการออกกฎข้อบังคับมากมาย และสถาบันการเงินจะต้องส่งรายงานตามกฎเหล่านั้น (Compliance) ซึ่งทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานในสหรัฐเพิ่มขึ้นถึงกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2016

ในยุโรป ตั้งกฎ Bail-in” หรือการที่ให้ผู้ถือหุ้นกู้ของสถาบันการเงินต้องแบ่งรับภาวะขาดทุนหากสถาบันการเงินต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งทำให้ผู้ซื้อหุ้นกู้ของธนาคารในยุโรปต้องขาดทุน ล้มละลายและเกิดปัญหาทางการเมือง

กฎระเบียบรวมถึงมาตรการภาครัฐที่ส่งผลลบต่อสถาบันการเงินเหล่านี้นั้น ทำให้ผลกำไร (ที่วัดจากผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นหรือ ROE) ลดลง และเมื่อผลกำไรลดลง สถาบันการเงินระดับโลกก็หันไปลดขนาดของตนเอง (Downsizing) ผ่านการกลับไปลงทุนในประเทศตัวเอง รวมถึงทำธุรกิจที่ตัวเองถนัดมากขึ้น และปรับลดพนักงานลง

เมื่อภาพเป็นเช่นนี้ ข้อเสนอของทรัมพ์คืออะไร และจะสามารถปฏิรูปภาคการเงินได้หรือไม่ ผู้เขียนขอแบ่งปันมุมมองดังนี้

ในส่วนของข้อเสนอของทรัมพ์นั้น มีสองประการหลัก อันได้แก่ หนึ่ง ข้อเสนอที่จะยกเลิก หรือลดทอนกฎ Dodd-Frank ซึ่งนอกจากจะบังคับให้มีกฎระเบียบมากขึ้นแล้ว ยังห้ามทำธุรกรรมบางประเภทอีกด้วย และแทนด้วยกฎ Financial CHOICE Act ซึ่งโดยหลักคือการให้สถาบันการเงินเลือกได้ระหว่างยังใช้กฎเดิมกับการมีกฎระเบียบเดียว คือ การให้สัดส่วนทุนต่อหนี้สินอยู่ที่ 10% เท่านั้น และ สอง ข้อเสนอที่จะนำ Glass-Steagall Act สมัยปี 1933 กลับมา ซึ่งโดยหลักคือการแบ่งแยกการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารพาณิชย์กับวานิชธนกิจให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจทำให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่มีขนาดเล็กลง

ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอเหล่านี้ เพราะ Dodd-Frank ทำให้ต้นทุนของสถาบันการเงินมากขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการต่าง ๆ กลับทำให้สถาบันการเงินต้องทำธุรกรรมที่สุ่มเสี่ยงมากขึ้นเพื่อให้ยังอยู่รอดได้ในธุรกิจ การยกเลิก Dodd-Frank และแทนที่ด้วย CHOICE ทำให้ต้นทุนไม่มากเท่า แต่สถาบันการเงินก็จำเป็นที่จะต้องมีเงินกองทุนเพื่อประกันความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งก็ช่วยทำให้ปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง

ขณะที่การนำ Glass-Steagall Act กลับมา ทำให้การแบ่งแยกธุรกรรมชัดเจนขึ้น ธนาคารพาณิชย์ที่รับฝากเงินประชาชนก็จะได้ไม่เสี่ยงมากเท่าวานิชธนกิจที่ทำธุรกิจกับตลาดทุน ที่ยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้ยังไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งในสหรัฐเองและในระดับโลก แต่ที่แน่ชัดคือ ในระยะต่อไป การทำธุรกิจสถาบันการเงินระดับโลกนั้น ไม่ง่ายเหมือนปลิงที่มาเกาะดูดเลือดคนอย่างแน่นอน

...........................................................................................

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่