คลินิกแก้หนี้

คลินิกแก้หนี้

วันที่ 17 พ.ค.นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเซ็นเอ็มโอยูกับธนาคารพาณิชย์ 17 แห่ง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่หลักประกัน

 ตั้งเป็นโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ขึ้นมา โดยออกเป็นประกาศธปท. เรื่อง “หลักเกณฑ์การกำกับดูแลโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ของประชาชนที่มีเจ้าหนี้หลายราย” เพื่อรองรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้สถาบันการเงินและบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจทางการเงินถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 พ.ค. และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา

ที่มาที่ไปของการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะต้องการช่วยประชาชนที่มีเจ้าหนี้หลายราย แก้ไขปัญหาหนี้แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขกัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศได้ด้วย เพราะปัจจุบันแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มมากขึ้นซึ่งธปท.มองว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ในประกาศฉบับนี้เปิดให้ทางแบงก์ และบริษัทลูกของแบงก์ว่าจ้างบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซีเข้ามาเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการหนี้ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตธปท. แต่ต้องเป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติตามที่ธปท.ประกาศไว้ ซึ่งหลักๆ ก็คือต้องมีความเชี่ยวชาญในการบริหารหนี้ มีฐานะที่มั่นคง หรือมีรัฐถือหุ้นใหญ่ ที่สำคัญต้องมีระบบงานและบุคลากรรองรับที่เพียงพอ

แม้ว่าในประกาศจะไม่ได้ระบุชัดว่าให้เอเอ็มซีรายใดเข้ามาบริหาร แต่ในทางปฏิบัติแว่วว่า โครงการนี้ได้เลือกให้ “แซม” หรือ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เป็นผู้บริหารหนี้ ซึ่งทางแซมเองก็ได้ปรับโครงสร้างองค์กรไว้รอล่วงหน้าแล้ว!!

ข้อดีของโครงการนี้คือ ทำให้ประชาชนที่เป็นหนี้ มีโอกาสปลดเปลื้องภาระหนี้ที่มีอยู่ได้ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ที่มีดอกเบี้ยสูง ซึ่งแม้ว่าลูกหนี้จะเข้าร่วมโครงการผ่อนชำระไปแล้ว แต่เมื่อมีเหตุจำเป็นก็สามารถที่จะ ขอผ่อนผันเงื่อนไขการผ่อนชำระได้ หากมีเหตุจำเป็น ซึ่งไม่ได้เกิดจากการไปก่อหนี้อื่นเพิ่มเติม โดยในประกาศธปท.ได้กำหนดกรณีเหตุจำเป็นไว้ชัดเจน เช่นคนในครอบครัวเสียชีวิต มีภาระค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเรื่องค่ารักษาพยาบาล มีลูกเพิ่ม ถูกให้ออกจากงาน ภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ขณะที่เจ้าหนี้เอง นอกจากจะได้รับชำระหนี้คืนแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากการจัดชั้นลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ ตามประกาศธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินสามารถจัดชั้นลูกหนี้เป็นชั้นปกติได้ เมื่อลูกหนี้ได้มีการชำระเงินตามเงื่อนไขโครงการแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน หรือ 1 งวดการชำระเงิน และหากลูกหนี้ขอผ่อนผันตามเหตุจำเป็น ก็ให้จัดชั้นตามเดิมก่อนที่จะเกิดเหตุจำเป็นได้

เรียกได้ว่า โครงการนี้วิน-วินทุกฝ่าย ทั้งลูกหนี้ และแบงก์เจ้าหนี้ ยกเว้นบางแบงก์ที่อาจจะไม่ค่อยอยากจะขายหนี้ที่มีอยู่ หรือไม่อยากจ้างคนอื่นบริหาร ส่วนความกังวลว่าลูกหนี้จะถูกฝั่งเจ้าหนี้เอาเปรียบหรือไม่นั้น ทางธปท.ได้กำหนดให้ทำข้อตกลงเงื่อนไขต่างระหว่างลูกหนี้ กับกลุ่มเจ้าหนี้เป็นลายลักษณ์อักษร และต้องส่งให้ธปท.พิจารณาก่อนที่จะดำเนินการ เรียกได้ว่า ในส่วนของลูกหนี้นั้น มีทั้งมาตรการผ่อนปรน และ “มาตรการคุ้มครองเลยทีเดียว

................

วรินทร์ ตริโน