นวัตกรรมกับ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม

นวัตกรรมกับ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม

นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างขึ้นมาสำหรับรองรับผู้บริโภคที่นิยมความทันสมัยและมีกำลังซื้อสูง

ในปัจจุบันมีธุรกิจหลายแห่งที่กำหนดกลยุทธ์ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งองค์การสหประชาติได้ประมาณว่า มีผู้ยากไร้หรือด้อยโอกาสในสังคมในโลกนี้จำนวนถึงประมาณ 4,000 ล้านคน

ตัวเลขดังกล่าว เป็นโอกาสทางการตลาดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

นวัตกรรมสำหรับผู้ด้อยโอกาสในสังคม จะมีลักษณะพิเศษคือ การตอบโจทย์ความต้องการเพื่อทำให้คนที่ยากจนหรือมีรายได้น้อย ได้มีชีวิตความเป็นอยู่และมีสถานภาพในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น

โดยนวัตกรรมดังกล่าว มุ่งนำเสนอวิธีการใหม่ๆ ที่มีราคาไม่สูงนัก อาจมีรูปร่างลักษณะภายนอกที่เทอะทะไม่สวยงาม แต่สามารถใช้งานสนองตอบความต้องการ ทำให้ผู้ที่ไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถซื้อหาสินค้าแปลกใหม่เหล่านี้มาใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน และช่วยให้วิถีการดำรงชีวิตดีขึ้นได้

ในประเทศเปรู บริษัท Global Alimentos (GA) ทำธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานประเภทซีเรียลที่เป็นอาหารเช้าสำหรับผู้ที่มีเวลาจำกัด เพราะต้องรีบเร่งตรียมตัวไปทำงานหรือปฏิบัติภารกิจต่างๆ จะเห็นได้ว่า อาหารเข้าประเภทซีเรียล มักจะมีวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมไม่สามารถเข้าถึงได้

โดยผู้ผลิตซีเรียลยักษ์ใหญ่ของโลก อาจตั้งสมมติฐานว่า กลุ่มผู้ด้อยโอกาสน่าจะมีเวลาว่างมากเหลือเฟือ จนอาหารประเภทนี้ไม่ได้ตอบสนองความจำเป็นได้

บริษัท GA ได้เห็นช่องว่างทางการตลาดที่มีขนาดใหญ่ ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดซีเรียลคุณภาพดี ราคาถูก โดยเข้าซื้อโรงงานเก่าจากยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตซีเรียล นำมาดัดแปลงด้วยแนวคิดใหม่ที่

ต้องการรักษาระดับคุณภาพทางโภชนาการ แต่ลดความหรูหราฟุ่มเฟือยต่างๆ ออกไป จนสามารถทำให้ราคาลดต่ำลง กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมสามารถซื้อหาได้

แม้กระทั่งการออกแบบขนาดบรรจุที่เล็กลงเพียงพอต่อการบริโภคในแต่ละครั้ง ทำให้ระดับราคาต่อหน่วยสามารถหาซื้อได้

ซึ่งนอกจากจะช่วยเกี่ยวกับการลดความหิวโหยของโลกแล้ว ยังช่วยให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนที่กำลังจะเติบโตขึ้นต่อไป

ในปี 2010 บริษัท GA มียอดการผลิตถึงกว่า 5,000 ตัน และสามารถขยายตลาดไปได้ยังประเทศต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา

แนวคิดใหม่ๆ ที่จะช่วยให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี ทำให้มีโลกทัศน์ที่กว้างไกลขึ้น ยังจะเป็นการช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย

นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่มุ่งเป้าไปที่การสนองตอบความต้องการของกลุ่มคนยากไร้หรือกลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคม อาจครอบคลุมถึ่งสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมความจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น ถังเก็บน้ำ ตู้เย็นธรรมชาติที่ใช้ดินเหนียวมาทำเป็นตัวตู้ สามารถสร้างความเย็นได้เพียงพอที่จะทำให้อาหารสดอยู่ได้นานขึ้นสำหรับท้องถิ่นที่มีอากาศร้อน ทำให้อาหารบูดหรือเน่าเสียได้เร็ว

ห้องสุขาที่ใช้น้ำน้อย แต่ใช้จุลินทรีย์บางชนิดมาช่วยในการย่อยสลายกากอาหารได้เร็วขึ้น ไปจนถึงเทคโนโลยีการสื่อสารในการนำเสนอโทรศัพท์มือถือราคาถูก เพื่อให้การติดต่อสื่อสารสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้

ตัวอย่างที่ได้รับการชื่นชมทั่วโลก เช่นแนวความคิดใหม่ในการสร้างธนาคารคนจน กรามีนแบงค์ ในประเทศบังคลาเทศ อาจจะนับได้ว่าเป็นต้นตระกูลของฟินเทค หรือเทคโนโลยีทางการเงิน ที่ช่วยให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสจำนวนมาก สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อลงทุนทำธุรกิจของตนเองได้

จนกลายมาเป็นโมเดลของไมโครหรือฟิโคไฟแนนซ์ในปัจจุบัน

นวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส อาจทำได้ในหลายมิติ เช่น นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นำเสนอสินค้าต่างๆ ด้วยแนวคิดใหม่ที่ตอบสนอความต้องการในราคาที่ไม่แพง นวัตกรรมกระบวนการ ในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการที่อำนวยความสะดวกในราคาต่ำ นวัตกรรมทางการตลาด ในการค้นหากลุ่มทางการตลาดและวิธีนำเสนอสิ่งใหม่เข้าสูตลาด

ตลอดจนถึงนวัตกรรมที่พลิกโฉม เกินความคาดหมายหรือความเข้าใจพื้นฐานที่เชื่อกันมาในตลาดที่มีเป้าหมายเพื่อรองรับกลุ่มสังคมในระดับที่สูงขึ้นมาเท่านั้น