จากเจ้านายสู่โค้ช สำหรับคนยุค 4.0

จากเจ้านายสู่โค้ช สำหรับคนยุค 4.0

ในยุคของ 4.0 เราจะมีคนพันธุ์ใหม่ที่ทำงานอยู่ในองค์กรมากขึ้น โดยคนพันธุ์ใหม่เหล่านี้ เป็นได้ทั้งคนรุ่นใหม่

ที่เติบโตมาด้วยสภาพแวดล้อมและวิธีคิดที่แตกต่างจากเดิม รวมทั้งคนรุ่นเก่าที่เปิดตนเองต่อข้อมูลข่าวสารและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากขึ้น ทำให้บทบาทของความเป็นเจ้านายและการบริหารคนในองค์กรของตนเองจะต้องเปลี่ยนไป

องค์กรส่วนใหญ่มีการนำระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานหรือ Performance Management มาปรับใช้ โดยหวังว่าระบบดังกล่าวจะช่วยให้บุคลากรและองค์กรมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดีในปัจจุบันเราจะได้เริ่มมีคำถามว่า ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่ครอบคลุมไปถึงการประเมินผลการปฏิบัติงาน เหมาะสมกับมนุษย์พันธุ์ใหม่ ในยุค 4.0 หรือไม่?

ได้เริ่มมีข้อสงสัยในกลุ่มผู้บริหาร HR รวมทั้งตัวพนักงานเองกันมากขึ้นว่าระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานในปัจจุบัน ได้นำไปสู่การพัฒนาในการปฏิบัติงานจริงหรือไม่? ขณะเดียวกันในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานส่วนใหญ่ สุดท้ายแล้วก็จะถูกแปลออกมาเป็นค่าๆ หนึ่งหรือคะแนนๆ หนึ่ง ซึ่งเมื่อออกมาเป็นคะแนน ความสนใจของพนักงานจะถูกเปลี่ยนจากการนำผลคะแนนที่ได้ไปพัฒนาผลการปฏิบัติงานของตนเอง เป็นการตั้งคำถามต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลหรือผู้ที่มาประเมินตนเอง

ในขณะเดียวกันในการประเมินผลการปฏิบัติงานนั้นก็มักจะมีขั้นตอนของการให้ Feedback จากเจ้านายกลับไปสู่ลูกน้อง ซึ่งข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับก็มักจะไม่ได้มีการนำไปสู่การพัฒนาการทำงานที่ดีขึ้น ส่วนค่าตอบแทนและสิ่งจูงใจที่ได้รับจากระบบ Performance Management นั้น แท้ที่จริงแล้วได้นำไปสู่การจูงใจเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายจริงหรือไม่?

จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นประกอบกับที่เรากำลังมุ่งไปสู่ยุค 4.0 ที่เน้นในเรื่องนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นำไปสู่คำถามที่มักจะได้รับบ่อยๆ ในช่วงหลังนั้นคือ ระบบการบริหารและประเมินผลการปฏิบัติงานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันยังมีความทันสมัยและเหมาะสมหรือไม่?

เมื่อไม่นานมานี้บริษัท Gallup ได้จัดทำรายงานผลการศึกษาชิ้นหนึ่งชื่อ Re-Engineering Performance Management ซึ่งได้พยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบการบริหารผลการดำเนินงานในปัจจุบัน พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะกว้างๆ ไว้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับองค์กรต่างๆ

โดย Gallup มองว่าเรามักจะมีภาพความเข้าใจที่ผิดๆ ว่าองค์กรยุคใหม่จะต้องมีภาพที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีที่ทำงานที่ทันสมัยและชิลๆ มีโต๊ะปิงปองหรือเครื่องออกกำลังกายให้คลายเครียด หรือมีอาหารให้รับประทานฟรี แต่จริงๆ แล้วจากข้อมูลของ Gallup พบว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต รวมทั้งต้องการความสนใจจากผู้บริหารในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ต้องการทำงานในองค์กรที่ตัวเนื้องานมีความน่าสนใจและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในโลก พร้อมกันนั้นองค์กรและงานที่ทำก็จะต้องสอดคล้องกับค่านิยมส่วนตัว สรุปคือคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำงานเพื่อเงินอย่างเดียว แต่ต้องการโอกาสทั้งเรื่องของความก้าวหน้า และการพัฒนาตนเองด้วย

ซึ่งสิ่งที่พนักงานต้องการหรือคาดหวังนั้นแตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาได้รับจากระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานในปัจจุบัน พนักงานต้องการความชัดเจนในงานที่จะต้องทำหรือได้รับมอบหมาย รวมทั้งความคาดหวังที่ผู้บริหารต้องการ ขณะเดียวกันก็ยังต้องการให้ผู้บริหารเข้ามาช่วยเหลืออยู่ในการให้คำแนะนำเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญของงานที่จะต้องทำ คนรุ่นใหม่ ไม่ต้องการรอถึงสิ้นปีที่จะได้รับ Feedback หรือการประเมินผล แต่ต้องการคำแนะนำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี สรุปง่ายๆ คือพนักงานรุ่นใหม่ไม่ต้องการคนที่จะมาเป็นเจ้านายแต่ต้องการคนที่จะมาเป็นโค้ช

เมื่อบทบาทของผู้บริหารจะต้องเปลี่ยนจากการเป็นเจ้านายมาเป็นโค้ชมากขึ้น ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน ก็ควรจะเปลี่ยนจากความเป็น Performance Management สู่การเป็นการพัฒนาผลการปฏิบัติงานหรือ Performance Development ด้วย