ความสุขของ VI

ความสุขของ VI

ความสุขของ VI

ระดับความสุขของคน ๆ หนึ่งนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการก็คือ 1) ยีน 2)สภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ และ 3) วีธีการปฏิบัติตนในการดำรงชีวิตและการทำกิจกรรมต่าง ๆ เรื่องของยีนนั้นเป็นเรื่องที่เราทำอะไรไม่ได้ คนบางคนเกิดมาด้วยยีนที่มีสุขภาพดีมาก แข็งแรงไม่เจ็บป่วย มีจิตใจที่ชอบมองโลกในแง่ดี แบบนี้เขาก็จะมีความสุขมากกว่าคนที่เกิดมามีสุขภาพไม่ดีและมีแนวโน้มเป็นคนมองโลกในแง่ลบหรือขี้กังวลถ้าสภาวะอย่างอื่นเหมือนกัน เรื่องสภาพแวดล้อมนั้น บ่อยครั้งเราก็ทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะคนส่วนใหญ่มักจะเลือกไม่ได้ ตัวอย่างเช่น คนที่เกิดและอาศัยอยู่ในเมืองร้อนมีโรคชุกชุมหรือคนที่อยู่ในประเทศที่มีระบบการปกครองที่กดขี่ ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพก็มักจะมีความสุขน้อยกว่าคนที่อยู่ในประเทศที่อากาศดีและระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตยที่คนมีสิทธิเสรีภาพสูง สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะทำให้ความสุขของคนเพิ่มขึ้นได้ส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับการกระทำของเจ้าตัวเองว่าจะนำไปสู่ความสุขที่มากขึ้นหรือไม่

กระบวนการของความสุขนั้นมี 2 ขั้น ขั้นแรกก็คือ ความสุขระยะสั้นที่เกิดจากความพึงพอใจที่ได้กระทำอะไรบางอย่าง นี่มักจะเกี่ยวข้องกับร่างกายและวัตถุ การกินอาหารที่อร่อย การได้เป็นเจ้าของเครื่องประดับที่มีค่า การมีเพศสัมพันธ์ การไปเที่ยว การละเล่นที่สนุกสนาน การชมภาพยนตร์ และการได้ชัยชนะหรือประสบความสำเร็จในการแข่งขันบางอย่าง เช่น การเล่นกีฬาหรือการเรียน เป็นต้น ความพึงพอใจเหล่านี้เป็นความสุขที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ แล้วก็จะจบลงไป นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ควรที่จะ “เลือก” ทำในสิ่งที่ “ไม่แพง” แต่ให้ความสุขได้เกือบสมบูรณ์ ซึ่งในโลกปัจจุบันนั้น เราสามารถหาได้ไม่ยาก เนื่องเพราะเหตุที่เทคโนโลยีและกระบวนการให้บริการใหม่ ๆ ที่ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดที่สามารถจัดหาสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

VI นั้น จะทำอะไรหรือซื้ออะไรโดยเฉพาะที่มีราคาแพงมากเช่นบ้านหรือคอนโด จึงควรที่จะต้องคิดอย่างหนักก่อนตัดสินใจ ที่สำคัญก็คือ ดูว่ามันจะให้ “ความสุข” เรามากน้อยแค่ไหน อย่าปล่อยให้อารมณ์ชั่วแล่นทำให้เราตัดสินใจทำแล้วมาพบภายหลังว่ามันไม่ได้ก่อให้เกิดความสุขแต่กลับกลายเป็นทุกข์ไปในระยะยาว ตัวอย่างที่ผมเองพบและก็พบว่าคนอื่นก็ประสบเป็นจำนวนมากก็คือ การซื้อที่ดินและห้องชุดตามรีสอร์ทที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในยามที่ทุกอย่างกำลังบูมเป็นต้น

เรื่องการทำงานหาเลี้ยงชีพในชีวิตประจำวันนั้น เป็นกิจกรรมที่เราใช้เวลากับมันมากที่สุดและสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นสิ่งที่ “จำเป็น” ที่จะต้องทำ และมักจะต้องทำไปจนถึงวันเกษียณหรือเกือบตลอดชีวิต การทำงานประจำนั้น สำหรับคนทั่วไปแล้วมักจะไม่ก่อให้เกิดความสุขหรือจะเรียกว่าเป็นทุกข์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม งานประจำบางอย่างสำหรับบางคนก็ก่อให้เกิดความสุขได้เช่นกันโดยเฉพาะงานที่ทำแล้ว “มีความหมาย” ในชีวิตเขา ตัวอย่างเช่น คนที่รักในงานศิลปะนั้น มักจะมีความสุขที่ได้ทำงานทุกวัน คนบางคนชอบสอน ชอบบรรยาย เขาก็มักจะมีความสุขที่ได้ทำอย่างนั้น เช่นเดียวกัน คนที่ทำงานแล้วประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่โดดเด่น ผู้คนยกย่อง มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่ดีและมีรายได้ที่มากก็มักจะรู้สึกมีความสุขกับการทำงาน อย่างไรก็ตาม เงินที่ได้จากการทำงานนั้น แม้ว่าจะมากกว่าปกติ แต่ถ้ามันก่อให้เกิดความเครียดและความกังวลสูงเกินไป มันก็ไม่ก่อให้เกิดความสุขและกลายเป็นทุกข์ได้ VI ที่ดีควรจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าเราควรทำมันไหม ความเห็นของผมก็คือ ถ้าทำงานแล้วไม่มีความสุขก็อย่าทำ มันไม่คุ้ม เพราะเราจะต้องอยู่กับมันทุกวัน ควรหางานที่ได้เงินดีพอสมควรแต่ให้ความสุขดีกว่า ตรงกันข้าม ถ้ามีงานที่เรารักและชอบทำมากแต่ได้เงินน้อยมาก แบบนี้เราก็ไม่ควรทำ เพราะอนาคตระยะยาวเราจะทุกข์ เพราะไม่มีเงินใช้ ยกเว้นว่าเราจะมีความมั่งคั่งพอที่จะไม่ต้องอาศัยเงินจากการทำงานแล้วเท่านั้น

ความสุขในระยะยาวนั้นคือการที่เราสามารถ “บรรลุเป้าหมายที่มีความหมาย” เงินนั้น แน่นอนว่าเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับเกือบทุกคน คนที่สามารถสร้างความมั่งคั่งได้จน “มีอิสรภาพทางการเงิน” ไม่ต้อง “ทำงานหาเงิน” เพื่อใช้เลี้ยงชีพอีกต่อไป และดังนั้นจึงสามารถเลือกทำในสิ่งที่ตนเองมีความพึงพอใจและมีความสุขได้มากขึ้นมาก ก็จะมีความสุขในระยะยาวได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินที่มากเกินกว่านั้นมาก ๆ ก็อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้นมากนัก และนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลที่คนมีเงินระดับมหาเศรษฐีบางคนนำเงินไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีความหมายอย่างอื่น อาทิเช่น บิลเกต ที่ตั้งมูลนิธิและหันไปทำงานด้านการพัฒนา “มนุษยชาติ” เช่น ช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่าทั่วโลก

เป้าหมายที่มีความหมายไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน อาจจะเป็นเป้าหมายทางด้านจิตใจ เช่น การบรรลุทางธรรม หรือการได้ช่วยสังคมหรือผู้อื่นให้ดีขึ้นจากผลงานของตน หรือแม้แต่การเป็นที่รักของครอบครัว เพื่อนฝูงและคนรู้จักก็ได้ ประเด็นสำคัญก็คือ เจ้าตัวรู้สึกดีว่านี่เป็นเป้าหมายที่มีความหมายในชีวิตของเขา

คนที่จะมีความสุขมากที่สุดจากเรื่องของการกระทำหรือการปฏิบัติตัวของตนก็คือ คนที่รู้เป้าหมายในชีวิตระยะยาวของตนเองตั้งแต่เนิ่น ๆ และก็สามารถทำงานหาเลี้ยงชีวิตด้วยงานที่ตรงและสอดคล้องกับเป้าหมายในระยะยาวได้อย่างมีความสุข ในกรณีแบบนี้ เขาก็แทบไม่ต้องคิดอะไรมาก เขาก็แค่ทำงานไปเรื่อย ๆ ตราบจนทำไม่ไหว วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เพราะเขาชอบการลงทุนมาตั้งแต่เด็กและมีความสุขกับการลงทุน เขาบอกว่า แทบจะ “เต้นแท็ปไปทำงานทุกวัน” และยังตั้งเป้าหมายที่จะลงทุนไป “ตลอดชีวิต” โดยไม่มีเป้าหมายสุดท้ายว่าเขาจะมีเงินเท่าไร เขามีความพอใจในเรื่องของกระบวนการลงทุนเท่า ๆ หรือมากกว่าเม็ดเงินที่จะได้จากการลงทุน

ในเรื่องของการกำหนดกลยุทธ์ที่จะเดินเพื่อให้เกิดความสุขสูงสุดนั้น สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การประเมินจุดแข็งของตนเองว่าคืออะไรและจะสามารถทำอะไรได้ดีในระดับไหน จากนั้นก็ตั้งเป้าหมายที่มีความหมายที่สอดคล้องกับความสามารถของตนเอง ประเด็นสำคัญก็คือ อย่าตั้งเป้าสูงเกินไปจนบรรลุได้ยากหรือต่ำเกินจนไม่ท้าทาย เป้าหมายนั้นควรจะต้องกำหนดเป็นช่วง ๆ อาจจะเป็นรายปีโดยที่เส้นทางนั้นจะนำไปสู่เป้าหมายระยะยาวที่มีความหมาย จากนั้นก็เริ่ม “เดินทาง” โดยกลยุทธ์ในการเดินทางก็คือ ต้องทำได้อย่าง “มีความสุข” ไม่เกิดความเครียด ไม่บีบรัดตัวเอง การ “เร่ง” โดยหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายระยะยาวเร็วเกินไปอาจจะก่อให้เกิดทุกข์และไม่มีประโยชน์ เหนือสิ่งอื่นใด จำไว้ว่าเมื่อถึงเป้าหมายแล้ว ความสุขก็จะหมดไป ต้องไปตั้งเป้าหมายใหม่อยู่ดี

ถ้าพูดถึงเฉพาะในกิจกรรมลงทุนเองนั้น ผมเองคิดว่าการที่จะมีความสุขได้ เราก็ควรจะเน้นการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก หากลยุทธ์ที่ไม่ต้องซื้อขายและเปลี่ยนตัวเล่นบ่อย ตั้งเป้าผลตอบแทนระยะสั้นที่สมเหตุผลสามารถบรรลุได้ไม่ยาก อาจจะที่ 10-15% ต่อปีหรือต่ำกว่านั้นในทุกสถานการณ์ มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม อาจจะมีหุ้นไม่ต่ำกว่า 5-10 ตัวขึ้นไป เลือกหุ้นโดยเน้นที่พื้นฐานของกิจการเป็นหลักและหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรที่หวังผลเลิศ ราคาหุ้นที่จะซื้อต้องสมเหตุผลหรือถูก และสุดท้ายเป้าหมายระยะยาวก็คือการมีอิสรภาพหรือความมั่นคงทางการเงิน ส่วนในกิจกรรมอื่นของชีวิตเช่นการทำงานประจำหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ นั้น เราก็จะต้องพิจารณาเลือกหนทางที่จะทำให้เรามีความสุขมากเท่าที่เราจะทำได้เปรียบเทียบกับรายได้หรือผลตอบแทนที่จะได้รับ อย่าทำอะไรที่ทำให้เราต้องทุกข์หนักเป็นเวลานาน เช่น ทำงานที่เราไม่ชอบเลย เพราะมันไม่คุ้มที่จะทำแม้ว่าเราจะคิดว่าเราจะมีเงินมีความสุขในวันข้างหน้า มันไม่จริง ความจริงก็คือ ถ้าวันนี้เราไม่มีความสุข วันข้างหน้าเราก็จะมีความสุขได้ยาก