ถอดหน้ากากประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศส

ถอดหน้ากากประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศส

เป็นไปตามการคาดการณ์ล่วงหน้าของสำนักโพลส่วนใหญ่ เมื่อทั้งนางมารีน เลอ แปน (Marine Le Pen)

 อดีตหัวหน้าพรรคขวาจัดหรือ The National Front Party และนายเอมมานูเอล มาครอง (Emmanuel Macron) นักการเมืองหนุ่มวัย 39 ปี อดีตนายธนาคารและรัฐมนตรีเศรษฐกิจ กลายเป็นสองผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุดในการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา โดยนายมาครองได้รับคะแนนเสียงคิดเป็นร้อยละ 24 ในขณะที่นางเลอ แปน ได้รับไปร้อยละ 21.3 ของจำนวนผู้ไปลงคะแนนเลือกตั้งทั้งหมด ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส สำหรับการเลือกตั้งรอบสองในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้

นายมาครอง นักการเมืองสายกลางซึ่งถูกคาดหมายให้เป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งมาก่อนแล้ว ว่าจะสามารถเอาชนะการเลือกตั้งในรอบที่สองหากต้องเจอกับนางเลอ แปน นอกจากนี้ เขายังได้รับการสนับสนุนจากผู้สมัครอื่นอีกคนที่แพ้การเลือกตั้งในรอบแรก คือ นายฟร็องซัว ฟียง (Francois Fillon) ตัวแทนฝ่ายขวากลาง และ นายฟร็องซัว ออล็องด์ (Francois Hollande) ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งล่าสุด แต่เลือกที่จะไม่ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ เนื่องจากคะแนนนิยมที่ต่ำ ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าจะเทคะแนนของผู้สนับสนุนพรรคใหญ่อีกสองพรรคให้หันไปรวมพลังสนับสนุนนายมาครอง เพื่อที่จะสกัดกั้นผู้ท้าชิงจากพรรคฝ่ายขวาจัดอย่างนางเลอ แปน มีผลทำให้นายมาครองได้รับการคาดการณ์จากผลการสำรวจของสำนักโพลต่าง ๆ ให้เป็นผู้ชนะในรอบที่สองด้วยคะแนนนำที่เหนือกว่านางเลอ แปนถึงร้อยละ 20 ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนของการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากันให้ถ่องแท้อย่างปรุโปร่งแล้ว ตัวนายมาครองเองก็หาใช่นักการเมืองที่มีแนวคิดปฎิรูปที่วิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของระบบที่เป็นอยู่หรือต้องการจะเปลี่ยนแปลงจริงจังมาก่อนเลย และหากดูจากภูมิหลังความสำเร็จและความร่ำรวยของเขาที่ได้มาจากการเป็นนายธนาคารและรัฐมนตรีจนถึงเมื่อปีที่แล้ว ก็เกิดคำถามว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนแบบ 180 องศาและกระทันหันของนายมาครอง ถ้าไม่ใช่จากการคาดหมายล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วว่า ประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ (Francois Hollande) นั้นคงไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งใหม่ในปี 2017 ได้ ทำให้ตัวเขาซึ่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ได้ริเริ่มก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองใหม่ที่เรียกว่า En Marche ขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2016 นี้เอง 

และหลังจากนั้นอีก 4 เดือน เขาถึงได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อลงสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเสียเอง ซึ่งหากมองในมุมนี้แล้ว นายมาครองก็คือตัวแทนจากพรรคเก่าของเขา แต่อาศัย หน้ากากนักปฎิรูป มาใช้ปกปิดเป้าหมายที่แท้จริงของการลงเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งความจริงทั้งหมดจะถูกเปิดเผยออกมาเองเมื่อเขาได้ชัยชนะในรอบที่สองแล้ว เขาจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่มีสมาชิกในสภาผู้แทนที่สังกัดอย่างเป็นทางการอยู่ในกลุ่มของเขาเลย ซึ่งจะทำให้เขาต้องร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายนนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว เขาก็จะกลายเป็นประธานาธิบดีที่ไม่สามารถมีผลงานที่เป็นรูปธรรมอะไรได้ และฝรั่งเศสก็คงจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรไปได้มากภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีที่ชื่อมาครอง ได้ แม้ว่าในระยะสั้นนั้น ชัยชนะของนายมาครอง ย่อมจะเป็นผลดีต่อการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีตลาดหุ้น และต่อค่าเงินยูโรอย่างแน่นอน

เชื่อว่าชาวฝรั่งเศสเองส่วนใหญ่ ก็ย่อมจะมองความจริงในประเด็นข้างต้นนี้ออกเช่นกัน แต่ที่พวกเขายังคงจะลงคะแนนให้กับนายมาครองกันต่อไปนั้น ก็เป็นเพราะความกลัวที่ทำให้ต้องหันมาช่วยกันสกัดกั้นนักการเมืองฝ่ายขวาจัด อย่างนางเลอ แปน นั่นเอง

หากมองตามนัยยะนี้แล้ว คู่แข่งที่แท้จริงของนางเลอ แปน กลับไม่ใช่นายมาครอง แต่คือตัวของนางเลอ แปน เองต่างหาก เธอจึงต้องเอาชนะตัวเองให้ได้ก่อนการเลือกตั้งรอบสองนี้ ด้วยการสลัดตัวเองให้หลุดออกจากภาพลักษณ์ที่ชาวบ้านเขาเกรงกลัวเธอมากที่สุดนั่นเอง

และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอ ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรค The National Front Party ภายหลังจากที่ได้รับชัยชนะในรอบแรกไปได้ไม่กี่วัน เพื่อจะได้ทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีของชาวฝรั่งเศสทั้งประเทศได้มากขึ้น ตามมาด้วยความพยายามที่จะสื่อสารด้วยคำสโลแกนใหม่ที่เข้าใจกันได้โดยง่าย เข่น “Choose France” เพื่อหวังจะสื่อสารปัญหาความทุกข์ยากของชาวฝรั่งเศสได้มากกว่าแทนที่จะมุ่งแต่ประเด็นเรื่อง “EU Exit” เท่านั้น ล่าสุดนี้ก็ได้มีการอธิบายแจกแจงแผนนโยบายที่เตรียมไว้ป้องกันความปั่นป่วนที่อาจเกิดตามมาจากนโยบายของเธอที่ได้ประกาศไปแล้ว เช่น ตัวอย่างล่าสุด ก็คือการประกาศว่าพร้อมจะตัดสินใจใช้มาตรการทางเลือกแบบ “capital controls” หากมีความจำเป็นเพื่อหยุดปัญหาการไหลออกของเงินทุนที่ไปต่างประเทศที่เป็นผลระยะสั้นที่เกิดจากนโยบาย “EU Exit” ของเธอเป็นต้น

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนชาวฝรั่งเศสเองนั่นแหละ ที่จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเลือกอนาคตของเขาเองว่าจะเชื่อตามนายมาครองและนักการเมืองพรรคพันธมิตรที่ขอให้ช่วยกันเทเสียงให้กับนายมาครอง หรือว่าจะเชื่อนางเลอ แปนที่จะเป็นผู้นำพาความเปลี่ยนแปลงหรือความขัดแย้งไม่แน่นอนกันแน่ หรือจะเลือกว่าจะนอนหลับทับสิทธิกันในวันเลือกตั้งแทนดีกว่า

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ๆ จะเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายหรือไม่บ่อยครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นความจริงอีกเช่นกันที่ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้น ก็มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คาดกันไม่ถึงเช่นกัน

หมายความว่า หากนางเลอ แปน สามารถพลิกกลับมาเป็นผู้คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งรอบที่สองได้แบบเหนือความคาดหมายของตลาดแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นความปั่นป่วนในตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลกที่เกิดจากคลื่นลมการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของฝรั่งเศสนี้ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะสั้น