ธุรกิจจะปรับตัวอย่างไรในยุค 4.0

ธุรกิจจะปรับตัวอย่างไรในยุค 4.0

สำหรับผู้ผลิตที่กำลังหาวิธีปลดล็อกค่าต่างๆจาก Industry 4.0 มีการปฏิบัติ 5 ขั้นตอนและ 8 ตัวขับเคลื่อนที่ควรพิจารณา

ผลการสำรวจเมื่อปี 2015 และรายงานไว้เมื่อต้นปี 2016 โดย The McKinsey จากผู้เชี่ยวชาญ 300 คนในเยอรมนี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 และความคืบหน้าในการดำเนินการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการใช้พลังงานอัจฉริยะ การเพิ่มประสิทธิภาพซัพพลายเชนแบบเรียลไทม์ การตรวจสอบและควบคุมระยะไกล การจัดการคุณภาพและกระบวนการผลิตด้วยระบบดิจิทัล พบว่าบางบริษัทยังคงประสบปัญหาในหลายด้าน อาทิ การประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ การรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต และการกำหนดความเป็นเจ้าของข้อมูลเมื่อทำงานร่วมกับผู้ให้บริการ ความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง และการสรรหาบุคลากรที่จำเป็น

 บริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่มีกำลังความสามารถ และความพร้อมด้านการลงทุนได้วางแผนและดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่สำหรับผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังคงดิ้นรนกับการหาวิธีปลดล็อกค่าต่างๆจาก Industry 4.0 มีการปฏิบัติ 5 ขั้นตอนที่เราควรพิจารณา ได้แก่

1. ผู้ผลิตควรมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนสู่ 4.0 ในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วน ไม่ควรทุ่มทุนเปลี่ยนแปลงไปเสียหมดทุกอย่างจนเกินกำลัง และบางครั้งอาจจะพบว่ามันไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น

2. บริษัทต่างๆไม่ควรกลัวที่จะใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ความจริงแล้วเรามีความสามารถใช้มันอยู่แล้ว สังเกตให้ดีสมาร์ทโฟนในทุกวันนี้ แทบจะเข้ามาจัดการชีวิตของเราเกือบจะทุกเรื่อง แสดงว่าเรามีทักษะมากพอที่จะใช้มัน เพราะการผลิตแบบ 4.0 มันก็ไม่ต่างกันเท่าใด

3. ระบบการผลิตแบบ 4.0 จริงๆ ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญหลายด้านผสมผสานกัน ดังนั้นการรวมกลุ่มของผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีแบบครบวงจร จะเข้ามาแทนที่ผู้ให้บริการรายเดียว

4. คุณค่าที่เกิดขึ้นจากการทำงานแบบ Industry 4.0 จะเกิดขึ้นได้ดี จำเป็นต้องมีทีมข้ามสายงานที่ทุ่มเทผลักดันนวัตกรรมตามวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง เพื่อเปลี่ยนแปลงและทดลองสิ่งใหม่ๆ

5. ไม่ใช่แค่ระบบการผลิตเท่านั้น หากแต่ยังต้องใช้โมเดลธุรกิจใหม่ การแพ้ชนะในทางธุรกิจยุคใหม่เกิดขึ้นได้ย่างรวดเร็ว จนดูเหมือนว่าวงจรชีวิตของธุรกิจมันสั้นจนเหลือเชื่อ ดาราบางคนหรือธุรกิจบางราย จึงอาจเติบโตได้ในข้ามคืน และลาโรงไปในเวลาไม่กี่เดือน

และมี 8 ตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ต้องเปลี่ยนนแปลงและเชื่อมโยงมันเข้ากับโลกดิจิตัล เพื่อมุ่งสู่ระบบการทำงานใหม่ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำได้นำเสนอและอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1. ทรัพยากรและกระบวนการ (Resource/process) จะต้องเป็นไปอย่างชาญฉลาดเพื่อลดการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง อีกทั้งยังหาจุดสมดุลและเหมาะสมกับระบบการผลิตขององค์กรได้ด้วย อาทิ ระบบการจัดการพลังงานชาญฉลาด (Smart grid) ที่สามารถเลือกใช้พลังงานจากแหล่งที่หลากหลาย (พลังงานหลัก และพลังงานทดแทน) อย่างเหมาะสมกับต้นทุนและช่วงเวลา อีกทั้งยังสามารถมองเห็นกระบวนการผลิตและสถานะในเชิงข้อมูลจากห้องควบคุม (Smart war room) ได้ทันทีผ่านเซนเซอร์ และ IoT
2. การจัดสรรและใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ (Asset utilization) โดยเครื่องจักรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนหน้าที่การทำงาน ย้ายตำแหน่งจุดที่ติดตั้ง ควบคุมสั่งการได้จากระยะไกล คาดการณ์ข้อบกพร่องล่วงหน้าเพื่อนำไปจัดทำแผนการบำรุงรักษา ซึ่งแน่นอนถ้าเราสามารถเดินเครื่องจักรโดยไม่เสีย สะดุด หยุดซ่อม การผลิตก็ต่อเนื่อง
3. การทำงานร่วมกันระหว่างคนและหุ่นยนต์ (Labor Human-Robot collaboration) ช่วยให้การทำงานมีความต่อเนื่อง ลื่นไหลแบบไร้รอยต่อ และที่สำคัญงานที่ต้องการความแม่นยำเที่ยงตรงสูง งานที่อยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยและเสี่ยงอันตราย งานซ้ำๆที่คนอาจเหนื่อยหรือเมื่อยล้าได้ หุ่นยนต์ก็จะเข้ามาทำแทน
4. การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventories) ทำให้การบริหารและจัดเก็บเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือสินค้าสำเร็จรูป ที่เราจะรู้ปริมาณและสถานที่จัดเก็บ ช่วยให้การตรวจสอบถูกต้องตลอดเวลา อีกทั้งยังเรียกใช้หรือเบิกออกมาได้โดยง่าย
5. การจัดการคุณภาพ (Quality) ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมกระบวนการผลิต การตรวจสอบสินค้าระหว่างผลิต การตรวจจับของด้อยคุณภาพ รวมไปถึงการคัดแยกของที่มีข้อบกพร่องผิดพลาดออกจากสายการผลิต
6. การสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของตลาด และกำลังการผลิต (Supply-demand match) แน่นอนความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูลเป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่กระนั้นการวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การพยากรณ์และตัดสินใจจะต้องตามมา
7. การผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดและทันกับเวลาที่ลูกค้าต้องการใช้งาน (Time to market) ด้วยระบบการผลิตที่มีความยืดหยุ่น จึงทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆร่วมกัน
8. การบริการก่อนและหลังการขาย (Service/aftersales) การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่าน FB Live ตอบคำถามข้อสงสัยเหมือนนั่งคุยกันแบบเห็นหน้าผ่าน facetime ทดลองใช้งานผ่านโลกเสมือนเมื่อใส่หน้ากากหรือแว่นตา VR เข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่าน line chat

เราสามารถจินตนาการสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต แล้วเริ่มต้นสำรวจตรวจสอบตัวเองวันนี้ ว่ามีอะไรบ้างที่ต้องเตรียมการและลงมือทำ