การจดบันทึก เครื่องมือย้อนเวลาหาอดีต

การจดบันทึก เครื่องมือย้อนเวลาหาอดีต

สัปดาห์ที่ผ่านมา เราคุยกันเรื่อง “การจดบันทึก”ที่คนไทยได้แรงบันดาลใจจากพระราชจริวัตรอันงดงามของสมเด็จพระเทพรัตน์

ที่ทรงศึกษาสรรพสิ่ง สลับกับทรงจดบันทึกอย่างสนพระราชหฤทัย อันเป็นภาพที่พสกนิกรชาวไทยเจนตา และเจนใจนัก

ทั้งนี้ ประโยชน์ของการจดโน้ตมีมากมาย อาทิ เพิ่มสมาธิในการฟังเพิ่มความเข้าใจเพิ่มความจดจำใช้เป็นแหล่งสืบค้นฯลฯ

นอกจากนั้น ผู้ที่จดบันทึกอย่างตั้งใจ ถือเป็นภาพลักษณ์ที่ดียิ่งของผู้นั้นอาทิมืออาชีพที่ใส่ใจจดประเด็นที่มีผู้นำเสนอในที่ประชุม กำลังส่งสัญญาณให้คนรอบข้างเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า เขาฟัง เขาสนใจ เขาให้เกียรติผู้นำเสนอ

อย่างไรก็ดี แม้จะมีประโยชน์มากมายแต่ก็ไม่มีการฝึกสอนเรื่องวิธีจดบันทึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างเอาความถนัดเข้าว่า

ดังนั้น วันนี้เรามาลองไล่เรียงดูว่าข้อแนะนำเรื่องวิธีการจดบันทึกดีๆ มีอะไรบ้างค่ะ

อุปกรณ์สิ่งที่ท่านผู้อ่านถนัดจัดว่าดีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไฮเทคทันสมัย หรือใช้แค่สมุด กระดาษกับปากกาหรือดินสอ

แต่ขออย่างเดียวว่ากรุณาจดไว้ในที่เดียวกันจะได้ใช้มันได้อย่างมีระบบพลิกหาข้อมูลได้ไม่ล่องหนหาย กลายเป็นถุงกล้วยแขก

รูปแบบ

การจดบันทึกเป็นระบบจะช่วยให้ใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะยามที่ต้องค้นหาหรือทบทวน

รูปแบบของการจดบันทึก มี2แนวทางหลักคือ

Linear:การจดเป็นลำดับ เป็นขั้นตอน ไล่เรียงเป็นประเด็นตามลำดับที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย

Non-linear:ไม่เป็นลำดับ อาทิ การจดเป็นสัญลักษณ์ เป็นรูปภาพ ใช้เครื่องหมาย ตลอดจนใช้สีสันประกอบ เพื่อช่วยย้ำให้จดจำได้

วิธีNon-linearหนึ่งที่ได้รับการยอมรับเป็นที่กว้างขวาง คือMind Map 

เช่นเคย เอาที่สบายใจแถมใช้ทั้ง 2 ระบบผสมกันได้ ไม่ว่ากันค่ะ

อีกหนึ่งระบบ ที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับเรียกว่าระบบ Cornell Note-Taking System ของมหาวิทยาลัยชื่อดังCornell สหรัฐอเมริกา

หลักสำคัญ คือ การแบ่งหน้ากระดาษออกเป็น2ส่วน

ส่วนขวาเอาไว้จดบันทึกก่อน

ส่วนซ้าย ไว้สรุปประเด็นหลัก หรือเขียนประเด็นคำถามสำคัญ ที่โยงใยกับเนื้อเรื่องแต่ละส่วนที่บันทึกไว้ทางขวา

สำหรับนักศึกษา ยามทบทวนบทเรียน จะใช้กระดาษปิดฝั่งขวาไว้ เห็นแค่ประเด็นและคำถามฝั่งซ้าย แล้วทดลองตอบ หรือขยายความเพื่อทบทวน ก่อนเปิดดูเฉลยที่บันทึกไว้ในฝั่งขวานั่นเอง

แนะนำเพิ่มเติมว่า อย่าลืมใส่หัวเรื่อง วัน และเวลา จะได้ง่ายในการค้นหาในอนาคต

วงการการศึกษา ยอมรับว่าระบบง่ายๆนี้ของ Cornell ช่วยให้นักศึกษาจดจำและเข้าใจบทเรียนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

ยามดิฉันประยุกต์ใช้ระบบนี้ในการบันทึกเนื้องานจะเพิ่มสัญลักษณ์กำกับแต่ละส่วนของเนื้อหาที่จดในฝั่งขวาเพื่อเตือนความจำ อาทิ

สำคัญ น่าสนใจ ? น่าสนใจ ต้องศึกษา หาข้อมูลต่อ

ต้องดำเนินการ

เมื่อบันทึกเสร็จ จะได้รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ

ยามดำเนินการแล้วก็ทำเครื่องหมายถูกกำกับไว้ในแต่ละข้อ ให้ดีใจว่าได้ทำแล้ว

แถมยามค้นหา สัญลักษณ์ก็ช่วยให้ตาไม่ลาย หาประเด็นง่าย ไม่ว่าเวลาผ่านไปนับเดือนหรือปี

เสมือนมีเครื่องมือ “ย้อนเวลา” หาอดีตค่ะ