สื่อมวลชน 4.0

สื่อมวลชน 4.0

เป็นที่ฮือฮาอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่า รัฐบาลจะออกกฎหมายคุ้มครองสื่อมวลชน ไฮไลต์ของงานนี้ คือ มีการตีความความหมายของคำว่า“สื่อมวลชน”ใหม่

กลายเป็นว่า นอกจากสื่อมวลชนในภาคปกติ เช่น โทรทัศน์ , วิทยุ, หนังสือพิมพ์ ก็จะควบคุมรวมไปถึง สื่อดิจิทัล ด้วย! ซึ่งอาจจะรวมถึงบุคคลธรรมดาทั่วไป ที่ใช้สื่อ Social Media ในการติดต่อสื่อสารกับประชาชน หรือ แฟนๆ

ใครทำ Blog , Facebook Fan Page , Youtube ที่มีรายได้ อาจจะต้องมารายงานตัว เพื่อลงทะเบียนเป็นสื่อทั้งหมด!

เจอข่าวแล้วแอบอึ้ง สตั๊นท์ไป 8 วินาที! คุณพระ! นโยบาย Thailand 4.0 จริงหรือนี่!

จริงๆผมยังไม่แน่ใจเท่าไหร่ ว่าทำไมถึงมีการคิดนโยบายนี้ขึ้นมา แต่ถ้าให้เดา ก็น่าจะเป็นเพราะ รัฐบาล เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของสื่อดิจิทัล โดยเฉพาะ Social Media ซึ่งสามารถส่งผลกระทบกับคนได้ในวงกว้าง อาจจะเกรงว่าจะมีคนไม่ดี ใช้ช่องทางนี้ สร้างกระแสปลุกปั่น ทำเนื้อหาเท็จ สร้างความเข้าใจผิดในสังคม และอาจจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไปได้

ว่ากันตรงๆ Social Media มีพลังในการสร้างปัญหา ระดับความมั่นคงของประเทศเลยทีเดียว ดังที่เราเห็นในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เห็นมีประเทศประชาธิปไตย ประเทศไหน ที่ออกมาควบคุมสื่อดิจิทัลในลักษณะนี้ มาก่อนเลย

ผมลองอ่านรายละเอียด ร่างกฎหมายฉบับนี้ดูแบบผ่านๆ ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดนัก เพราะไม่ใช่นักกฎหมาย จึงอ่านไม่ค่อยจะรู้เรื่องนัก แต่ในฐานะนักการตลาดออนไลน์ ผมคิดว่ากฎหมายตัวนี้ น่าจะใช้งานจริงยากมากๆครับ

แค่ว่าใครต้องลงทะเบียนเป็นสื่อ ใครไม่ต้องลงทะเบียนสื่อบ้างก็พอ แค่นี้ก็น่าจะเวียนเฮดกันพอสมควร และในกรณีที่มีสื่อไม่ดี สายดาร์ก ทำเรื่องฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ว่าไปเปิดบล็อก เปิดเพจ โฮสอยู่ต่างประเทศ เราจะทำเช่นไร

เพราะด้วยเทคโนโลยีในบัจจุบัน บอกเลยว่าควบคุมได้ยากมาก

จริงๆบ้านเราก็มีกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อยู่แล้ว เรายังจำเป็นจะต้องมีกฎหมายควบคุมสื่อออกเพิ่มเติมมาอีกหรือ

ผมเห็นด้วยที่จะเข้ามาดูแลสอดส่องนะครับ แต่อาจจะไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาควบคุม เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะน่าจะปล่อยให้กลไกของสังคม จัดการสื่อที่ไร้คุณภาพหรือสื่อที่ไร้จริยธรรมไปเองมากกว่า

หรืออาจจะมีการลงทะเบียนสื่อน้ำดี แบบเป็นเรื่องเป็นราว กล่าวคือ ไม่ต้องไปตีตราบังคับเป็นกฎหมาย แต่ให้ใช้วิธีสมัครใจแทน โดยใครที่ไปตีทะเบียน ก็ให้มีมาตรฐาน กำหนดได้ว่าเป็นสื่อมวลชน มืออาชีพตัวจริง ข้อมูลที่เผยแพร่ต้องมีหลักฐาน เชื่อถือได้ พิสูจน์ได้

ส่วนใครไม่ไปตีทะเบียน ก็ต้องแสดงให้ชัดเจนว่า ตัวเองยังไม่ได้ตีทะเบียน ใครมาบริโภคข้อมูล ก็ต้องระวังตัวเองด้วย

ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆระยะหนึ่ง คนเสพข้อมูลจะเริ่มเกิดความรู้ความเข้าใจ ว่าอันไหนคือ สื่อน้ำดี หรือ สื่อน้ำเลว เพราะผู้บริโภคเองก็ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ตามข้อมูลที่มีให้เสพมากขึ้นเรื่อยๆ

อาม่าข้างบ้านผม แกเล่นไลน์ ยังบ่นอยู่บ่อยๆ ว่าข่าวในไลน์ เชื่อถือไม่ได้ อั๊วดูข่าวทีวีดีกว่า!

พูดถึงเคสนี้ ผมนึก Case Study เก่าคลาสสิคขึ้นมาเคสหนึ่ง ที่เมืองนิวยอร์ก มักจะมีนักดนตรีอินดี้จัดคอนเสิร์ตกันเองอยู่บ่อยๆ โดยนักดนตรีอินดี้เหล่านี้ มักจะใช้วิธีการโปรโมทคอนเสิร์ตของตัวเอง โดยการติดโปสเตอร์โฆษณากระจายไปตามเมือง ติดตึกบ้าง ติดตู้โทรศัพท์บ้าง ติดต้นไม้บ้าง ติดหน้าบ้านคนบ้าง เรียกว่า ติดเต็มบ้านเต็มเมือง รกรุงรังเต็มไปหมด ซึ่งจริงๆแล้ว การติดโปสเตอร์โฆษณาแบบนี้ เป็นเรื่องผิดกฎหมายในนิวยอร์กด้วย

ตำรวจเห็นเข้า ก็จะพยายามเข้าไปฉีกทำลายโปสเตอร์ทิ้ง แต่พอข้ามคืนปั๊บ ก็จะมีโปสเตอร์อันใหม่มาติดแทนทันที เรียกได้ว่า ฉีกได้ฉีกไป เราศิลปินอินดี้ติดใหม่ก็ได้ ตำรวจก็ได้แต่อิดหนาระอาใจ ไม่รู้จะทำเช่นไรดี

แต่จู่ๆก็มีตำรวจหัวดีคนหนึ่งออกไอเดีย ทำสติ๊กเกอร์ “ยกเลิกงาน” ขึ้นมา ครั้งนี้ตำรวจไม่ฉีกโปสเตอร์ทิ้งแล้วครับ แต่ใช้วิธีติดสติ๊กเกอร์ “ยกเลิกงาน” ทับโปสเตอร์โฆษณาแทน

ใครมาเห็นโปสเตอร์เข้า ก็จะเข้าใจว่า คอมเสิร์ต ถูกยกเลิก แค่นี้เองครับ เหล่าศิลปินอินดี้ ถึงกับเลิกติดโปสเตอร์เถื่อนไปเองแบบอัตโนมัติ

ผมแค่อยากจะเสนอวิธีการจัดการสื่อดิจิทัลในทางเลือกอื่นแทนครับ การควบคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อาจจะไม่ใช่ทางออกสำหรับเรื่องนี้ แต่การพยายามทำให้ผู้บริโภคสื่อ แยกแยะได้ว่า อันไหนคือสื่อที่ดีหรือสื่อที่ไม่ดี น่าจะเป็นสาระสำคัญกว่า

แต่ถ้าในกรณีที่รัฐบาลอยากจะควบคุมสื่อขึ้นมา ด้วยเหตุที่ว่า “รับความจริงไม่ได้” อันนี้ตัวใครตัวมันครัโซวบักท้งเลิกเขียนบทความก็ได้….ยอม!