ฤาโลกนี้ไร้ขื่อแป

ฤาโลกนี้ไร้ขื่อแป

สภาพสังคมที่ระเบียบสังคมล้มเหลว เพราะมีคนละเมิดกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย โดยไม่มีใครสามารถทำให้การละเมิดเหล่านั้นยุติลงได้

 เป็นสภาพที่คนแก่ในสมัยก่อนเรียกกันว่า “บ้านเมืองไร้ขื่อแป” ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบ “บ้านเมือง” กับ “บ้านเรือน”

“ขื่อ” คือไม้เครื่องบนสำหรับยึดหัวเสาด้านขวาง ส่วน “แป” คือไม้สี่เหลี่ยมทำหน้าที่ยึดและรับน้ำหนักของแผงหน้าจั่ว และรับน้ำหนักจากกลอนถ่ายสู่จันทัน บ้านที่ไม่มี “ขื่อแป” ก็ย่อมขาดความมั่นคงและความแน่นอน ไม่อาจคาดการณ์ได้เลยว่ามันจะล้มครืนลงมาเมื่อไร และผู้อยู่อาศัยในบ้านก็ไม่มีอะไรให้แน่ใจได้เลยว่าบ้านหลังนั้นจะช่วยปกป้องคนในบ้านให้พ้นจากภยันอันตรายต่างๆ ได้ เผลอๆ ตัวบ้านนั้นเองที่จะพังทะลายลงมาทับคนในบ้านให้บาดเจ็บล้มตาย

คงเป็นเพราะผมแก่มากขึ้น เมื่อพยายามทำความเข้าใจสภาพการณ์ในโลกและสังคมไทยในปัจจุบัน ก็อดไม่ได้ที่จะหวนระลึกถึงคำเปรียบเปรยเก่าๆ ข้างต้น และผมยังอยากจะเดาต่อไปด้วยว่า คนที่สนใจความเป็นไปของบ้านเมือง และมีความเป็นห่วงบ้านเมืองสักหน่อยก็คงมีความรู้สึกไม่ต่างจากผมเท่าใดนัก

หากมองออกไปนอกสังคมไทย โดยไล่ดูพฤติกรรมของผู้นำประเทศต่างๆ ที่ขึ้นมามีอำนาจในช่วงปัจจุบันนี้ ก็จะเห็นได้ไม่ยากนักว่า หลายประเทศในเอเชีย อาฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ต่างก็ใช้อำนาจโดยไม่ได้ยึดถือหลักการหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมอะไรเลย พวกเขามักจะมองเพียงว่าระเบียบทางสังคมเดิมก่อปัญหาความยุ่งยากให้แก่สังคม โดยไม่ได้มองไปอีกด้านหนึ่งว่าระเบียบต่างๆ ที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าที่ตัวเขาจะมีอำนาจนี้เองที่เป็นรากฐานให้พวกเขาสามารถก้าวขึ้นมามีอำนาจได้

คงเป็นเพราะผู้นำของประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะได้อำนาจจากการเลือกตั้งหรือโดยทางอื่นๆ ก็ตาม ต่างก็ตระหนักรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองนั้นมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้บ้านเมืองปราศจาก “ขื่อแป” พวกเขาจึงมีความหวั่นไหวมากเป็นพิเศษว่าตนเองจะต้องสูญเสียอำนาจที่ได้รับมา ความหวั่นไหวหรือความกลัวว่าจะสูญเสียอำนาจนี้เองที่ผลักดันให้พวกเขาพยายามทำอะไรทุกอย่างที่คิดว่าจะเอื้อให้ “รักษา” อำนาจเอาไว้ได้ ซึ่งทำให้สภาวะไร้ขื่อแปทวีความรุนแรงมากขึ้น

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ เกาหลีเหนือ อาฟริกาใต้ เวเนซุเอล่า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำแบบที่ทำให้ “บ้านเมืองไร้ขื่อแป ” ประชาชนในประเทศของผู้นำเหล่านี้และพลเมืองโลกทั้งหมดกังวลกับการทำให้ทุกอย่างมีความยุ่งเหยิงและไร้ระเบียบที่จะเข้าใจได้ ลองนึกถึงคนญี่ปุ่นและคนเกาหลีใต้ดูนะครับว่าจะเป็นกังวลมากสักเพียงไหนเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสั่งให้กองเรือรบเดินทางมายังคาบสมุทรเกาหลี หรือลองนึกถึงชาวสลัมในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของประเทศก็เต็มไปด้วยความกลัวว่าจะพบกับมาตรการมืดของประธานาธิบดี

เมื่อหันมองสังคมไทย ก็อาจมองเห็นสภาวะ “ บ้านเมืองไร้ขื่อแป” อยู่ไม่น้อย ที่น่าแปลกใจก็คือสภาวะไร้ขื่อแปในหลายประเทศอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่มีกฎหมายใช้บังคับ แต่อาจจะเป็นในทางตรงกันข้าม นั่นคือมีกฎหมายใหม่ๆ ที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของประเทศและของโลกยุคนี้ เช่น ในสหรัฐอเมริกา สภาวะ “เสมือนไร้ขื่อแป” หรือไร้ความแน่นอน เกิดขึ้นเพราะมี “คำสั่ง” จำนวนมากของประธานาธิบดีซึ่งเป็นคำสั่งของฝ่ายบริหารที่มีฐานะเป็นกฎหมาย โดยที่คนจำนวนมากในสังคมไม่เห็นด้วยหรือถึงกับเคลื่อนไหวต่อต้าน เป็นต้น

เราจะเข้าใจสภาวะที่ผู้นำประเทศและผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมละเมิด “ระเบียบ” ของสังคมเช่นนี้ได้อย่างไร

การเคลื่อนย้ายทางสังคม (social mobility) ที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนย้ายที่ผสมผสานกันในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายแนวตั้ง การเคลื่อนย้ายแนวระนาบ หรือ การเคลื่อนย้ายสถานะทางสังคมในช่วงชีวิตของคนหนึ่งรุ่น ที่สำคัญ การเคลื่อนย้ายทางสังคมทั้งหมดได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ จึงส่งผลกระทบต่อจินตนาการของผู้คนในสังคมอย่างลึกซึ้งและไพศาล และทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางสังคมของ “ อำนาจ”

อาจกล่าวได้ว่า “อำนาจ” ได้เริ่มหลุดออกจากมือของชนชั้นนำรุ่นเก่าหรือชนชั้นนำที่ได้สืบทอดความเป็นชนชั้นมายาวนานบนฐานของทุนทางเศรษฐกิจและทุนทางวัฒนธรรมที่สั่งสมไว้ เพราะคนในสังคมทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ต่างก็เผชิญความผันผวนต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าชนชั้นนำแบบเก่าไม่อาจสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ตนได้ การ “ลองของใหม่” จึงทำให้ผู้นำหรือชนชั้นนำรุ่นใหม่ (อาจจะมีอายุมากก็ได้ ) ได้อำนาจมาครอบครองแบบ “ส้มหล่น" หรืออย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นผู้มีอำนาจและใช้อำนาจโดยไม่มีเวลาที่จะเรียนรู้ “ ขื่อแป” ของบ้านเมือง

จึงไม่น่าประหลาดใจ ที่การรื้อ “ขื่อแป” เดิมโดยที่ไม่รู้ว่าจะสร้างอันใหม่ให้แก่ประชาชนอย่างไรจึงเกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหงของโลกใบนี้ ในขณะที่การรวมตัวกันต่อต้านอำนาจที่ไม่เคารพขื่อแปก็ปราศจากพลัง เห็นได้ชัดในกรณีสหรัฐอเมริกาเช่นกัน (ส่วนกรณีผู้นำเกาหลีเหนือ คือ คิม จอง อุน ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากบิดา ก็เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าการต่อต้านของประชาชนย่อมเกิดขึ้นได้เฉพาะในความฝันเท่านั้น

การใช้ “ อำนาจ” ตามอำเภอใจเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้นในสังคมโลกและสังคมไทยปัจจุบัน และ “อำนาจ” ที่ใช้ก็อาจเป็น “ อำนาจดิบ” ที่ข้ามจริยธรรมหรือบรรทัดฐานต่างๆ ที่เคยมีมา ลองนึกถึงประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่พูดถึงการฆ่าคนเหมือนกับคนเป็นผักเป็นปลา (ขณะนี้มากกว่า ๗๐๐๐ ศพ ) แต่เพราะการเคลื่อนย้ายทางสังคมของฟิลิปปินส์มีสูงมาก จึงทำให้การใช้อำนาจอย่าง “ ไม่มีขื่อไม่มีแป” ของ ประธานาธิบดียังคงดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง แม้คณะสงฆ์คาทอลิกที่มีอิทธิพลสูงมากในประเทศฟิลิปปินส์ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้

แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจย่อมทำให้เกิดความต้องการและเกิดการสร้าง “ ขื่อแป” ชุดใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าเดิมเสมอมา แต่ในช่วงของความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากนี้ สังคมไม่ได้มีโอกาสที่จะทบทวน “ขื่อแป” เดิมเพื่อจะช่วยกันสร้างขึ้นมาใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป เราประชาชนพลเมืองไทยและพลเมืองโลกกำลังถูกทำให้ยืนตากแดดตากฝนตามลำพัง เพราะบรรดาผู้นำกำลังสำราญเริงร่ากับการออกกฎหมายและใช้อำนาจตามกฎหมายในสังคมที่ “ไร้ขื่อแป” (ลองนึกถึง พ.ร.บ.เกี่ยวกับสื่อที่รัฐพยายามใช้กฎหมายใหม่นี้มาควบคุมสื่อมากขึ้นด้วยข้ออ้างว่าสื่อไร้ความสามารถในการควบคุมสื่อด้วยกันเอง ก็จะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนครับ)

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นบทรำพึงรำพันของคนแก่ ที่ไม่มีปัญญาจะทำอะไรกับสภาวะไร้ขื่อแปที่เกิดขึ้นครับ ก็ได้แต่บ่นไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ โปรดอย่าได้ถือสาหาความกันเลยนะครับ