เนรมิตมหานครแห่งโลกอนาคต

เนรมิตมหานครแห่งโลกอนาคต

เมื่อหนึ่งเดือนก่อน แทบจะไม่มีใครในโลกเคยได้ยินชื่อ “เขตสงอัน” พื้นที่ชนบทเล็กๆ ในมณฑลเหอเป่ยของประเทศจีน

 แต่ภายหลังจากวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา “สงอัน” กลายเป็นชื่อที่ทุกสายตาในจีนจับจ้อง เพราะคณะกรรมกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซึ่งใหญ่กว่ารัฐบาล) ได้ประกาศว่าจะสร้าง “มหานครแห่งอนาคต” ขึ้นจากท้องทุ่งชนบทแห่งนี้

ภายหลังประกาศเนรมิตเมืองใหม่ ราคาที่ดินในเขตสงอันเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในชั่วข้ามคืน จนรัฐบาลจีนต้องประกาศระงับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการกว้านซื้อและการเก็งกำไรของพ่อค้า ในรอบเดือนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์และบริษัทก่อสร้างในปักกิ่งยังพุ่งขึ้นเหมือนเทวดาปั่น

มีรายงานว่า โรงแรมบริเวณใกล้เคียงแทบไม่มีห้องว่าง เพราะนักแสวงโชคจำนวนมากต่างรีบมาสำรวจพื้นที่ เรียกว่าถนนทุกสายกำลังมุ่งสู่พื้นที่ชนบทที่เพิ่งไม่กี่วันก่อนยังเป็นเพียงท้องทุ่งที่ไม่มีคนสนใจ

เขตสงอันตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง ห่างจากปักกิ่งราว 100 กิโลเมตร (62 ไมล์) ใช้เวลาเดินทางจากปักกิ่ง 2 ชั่วโมงโดยรถยนต์ (อนาคตจะใช้เวลาครึ่งชั่วโมงด้วยรถไฟความเร็วสูง) สงอันมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เพราะตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างสามมหานครใหญ่ คือ ปักกิ่ง เทียนจิน (เมืองท่าสำคัญห่างจากปักกิ่ง 30 นาที ด้วยรถไฟความเร็วสูง) และฉือเจียจวง เมืองเอกของมณฑลเหอเป่ย นอกจากนั้น สงอันยังเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในมณฑลเหอเป่ยอีกด้วย

แผนการช่วงแรกจะเน้นพัฒนาพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่กว่าเขตแมนฮัตตันของนิวยอร์ก 2 เท่า) และจะขยายจนกินพื้นที่ 2,000 ตารางกิโลเมตร (ขนาด 2 เท่าของประเทศสิงคโปร์) โดย 15 ปี ต่อจากนี้ จากท้องทุ่งชนบท จะสร้างบ้านแปงเมืองเป็นมหานครที่มีประชากรราว 5.4 ล้านคน คาดว่าปริมาณการลงทุนในการสร้างเมืองใหม่อยู่ที่ราว 2 ล้านล้านหยวน หรือ 290,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ภายในกรอบเวลา 15 ปี 

สีจิ้นผิง ผู้นำเบอร์หนึ่งของประเทศจีน ออกมาแถลงเองว่าการสร้าง “มหานครสงอัน” ถือเป็นยุทธศาสตร์แผนอนาคตของจีน

เป้าหมายแรก เพื่อลดความหนาแน่นของประชากรในกรุงปักกิ่ง ซึ่งปัจจุบันมีคนหนาแน่นเฉียด 20 ล้านคนแล้ว แม้รัฐบาลจะกำหนดเป้าหมายคุมไม่ให้เกิน 23 ล้านคนในปี ค.ศ. 2020

ปัญหาคนล้นปักกิ่งทำให้การจราจรเป็นอัมพาต (เกินหน้ากรุงเทพฯ ไปนานแล้ว) รถไฟใต้ดินซึ่งมี 19 สาย คลื่นผู้โดยสารอัดแน่นยิ่งกว่าปลากระป๋อง ใครเคยไปปักกิ่งน่าจะรู้ว่ามลพิษในเมืองหนักหนาสาหัสเพียงใด ยังไม่นับปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะน้ำบาดาลและแหล่งน้ำจืดไม่เพียงพอกับจำนวนประชากร

รัฐบาลจีนตั้งเป้าจะย้าย “ส่วนที่ไม่ใช่หน่วยราชการ” จำนวนมากออกจากกรุงปักกิ่งมาไว้ที่สงอัน ได้แก่ ภาคธุรกิจส่วนหนึ่ง และมหาวิทยาลัย (ซึ่งในปักกิ่งมีมากกว่า 70 แห่ง) โดยมุ่งหมายให้สงอันเป็นเมืองการศึกษาและเมืองธุรกิจนวัตกรรมไฮเทค

เป้าหมายที่สอง เพื่อสร้างตัวอย่าง “เมืองแห่งโลกอนาคต” ซึ่งใช้ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยที่สุด เน้นความน่าอยู่ คุณภาพชีวิต และเมืองสีเขียว แม้ประชากรหนาแน่น

รัฐบาลเตรียมประกาศเชิญชวนนักวิชาการและสถาปนิกชั้นนำทั่วโลกมาแข่งขันออกแบบและวางแนวคิดของเมือง โดยเชื่อว่าน่าจะได้รับความสนใจมาก เพราะไม่มีโอกาสไหนในโลกอีกแล้วที่จะสามารถวางแผนสร้างมหานครในฝันขึ้นจากทุ่งนาว่างเปล่าได้ ไม่ต้องมานั่งกังวลโครงสร้างหรือปัญหาของเมืองที่ตกทอดมาแต่เดิม

ในปี ค.ศ. 1978 ประชากรจีนเพียง 18% อาศัยในเขตเมือง ปัจจุบันตัวเลขนี้อยู่ที่ 55% และเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในสมัยก่อน รัฐบาลจีนเน้นขยายเมืองและสร้างเมืองใหม่ แต่ไม่ได้เน้นที่คุณภาพของเมือง สงอันจะเป็นโมเดลใหม่ให้กับเขตเมืองทั่วประเทศ

นโยบายการสร้างเมือง ถือเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะผู้นำจีนเชื่อว่า วิธีเดียวที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในชนบท ก็คือต้องทำให้เหลือเกษตรกรในชนบทให้น้อย จากนั้นใช้เทคโนโลยีทำให้ผลผลิตทางการเกษตรยังอยู่ในระดับเดิมแม้จะใช้คนน้อยลง ส่วนประชากรส่วนใหญ่ต้องถ่ายโอนมายังเขตเมืองและภาคการผลิตอื่นที่ทำรายได้สูงกว่าภาคเกษตร เมื่อรายได้ของคนทั่วไปสูงขึ้น (เพราะงานในเมืองมีโอกาสให้ค่าตอบแทนสูงกว่า) ย่อมทำให้สามารถซื้อผลผลิตทางการเกษตรได้ในราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรก็มีจำนวนน้อยลง ทำให้แต่ละคนมีส่วนแบ่งรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น สุดท้ายก็จะทำให้รายได้ต่อหัวของเกษตรกรเองสูงขึ้นเช่นกัน (การเปลี่ยนผ่านลักษณะนี้เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น)

การสร้างเมืองดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะการกระจุกตัวของประชากรจะก่อให้เกิดความร่วมมือและโอกาสทางธุรกิจมหาศาล (ภาษาเศรษฐศาสตร์บอกว่า “ความเป็นเมือง” ช่วยลดต้นทุนธุรกรรม) ในขณะที่ประชากรที่กระจัดกระจายในชนบทไม่มีโอกาสสร้างสรรค์ธุรกิจเช่นนั้น

เป้าหมายที่สาม ก็คือ ให้สงอันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) แห่งใหม่ สำหรับทดลองทางนโยบาย รัฐบาลจีนชอบทำการทดลองนโยบายในพื้นที่เล็กๆ ก่อน หากได้ผล จึงจะขยายไปทั่วประเทศ สงอันจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมไฮเทคเพื่ออนาคตโดยเฉพาะ

มีคนซุบซิบว่า สีจิ้นผิงต้องการสร้าง “มหานคร” ให้คนจดจำ เหมือนกับที่ในช่วงทศวรรษ 1980 เติ้งเสี่ยวผิงได้สร้าง “มหานครเสินเจิ้น” ขึ้นจากหมู่บ้านชาวประมงที่ไม่มีอะไรเลย (เสินเจิ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน และน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ) เช่นเดียวกับที่ในช่วงทศวรรษ 1990 เจียงเจ๋อหมินได้สร้าง “เขตผู่ตง” ขึ้นจากทุ่งน้ำในเซี่ยงไฮ้ที่ไม่มีอะไรเลย จนวันนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งสำคัญของเอเชีย

มีเสียงวิจารณ์ว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ที่สงอันจะประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ เพราะในพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลของจีน ก็เคยมีตัวอย่างเขตเศรษฐกิจไม่น้อยที่ “เข็นไม่ขึ้น” หรือสร้างแล้วนักลงทุนไม่มีใครมา แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า เขตเศรษฐกิจที่ล้มเหลวส่วนใหญ่ เป็นเพราะการเปลี่ยนตัวผู้นำมณฑลและความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย

แต่งานนี้เบอร์หนึ่งของจีนอย่างสีจิ้นผิงสั่งเองครับ นอกจากนั้น สงอันยังตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างสามมหานครใหญ่ (ปักกิ่ง เทียนจิน และฉือเจียจวง) ซึ่งมีประชากรและพลังทางเศรษฐกิจมหาศาล ยิ่งถ้ารัฐบาลเน้นเอามหาวิทยาลัยย้ายออกจากปักกิ่งมาที่เมืองใหม่ ก็จะทำให้เมืองใหม่เป็นศูนย์กลางการศึกษา สามารถผลิตแรงงานชั้นสูงรองรับธุรกิจไฮเทคแห่งโลกอนาคตได้ดังที่วาดฝัน