LG ค้ำประกัน บำรุงรักษาสาธารณูปโภค...

LG ค้ำประกัน บำรุงรักษาสาธารณูปโภค...

ผู้จัดสรรที่ดิน หรือ Developers หลายท่าน สอบถามประเด็นหนังสือสัญญาค้ำประกัน การบำรุงรักษาสาธารณูปโภค

 (7% ของมูลค่าการจัดทำสาธารณูปโภค) ซึ่งผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่จัดทำ และมอบให้แก่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด ในคราวซึ่งได้รับอนุญาตให้สามารถยกเลิกหนังสือสัญญา ค้ำประกันการจัดทำสาธารณูปโภคจากคณะอนุกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัด

 กรณีผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่สามารถจดทะเบียนจัดตั้ง “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” ภายในระยะเวลาตามที่ผู้จัดสรรที่ดินกำหนด ผู้จัดสรรที่ดินจะสามารถขอคืนหนังสือสัญญาค้ำประกัน การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าว จากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดได้หรือไม่ และ / หรือ หากผู้จัดสรรที่ดินยังคงความประสงค์ขอพ้นหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อไป ตามมาตรา 44 (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่สอง) 2558 ด้วยการจัดทำแผนงานบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเสนอต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร และคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดพิจารณา หรือการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์ อย่างใด อย่างหนึ่ง ผู้จัดสรรที่ดินสามารถรับคืนหนังสือสัญญาค้ำประกัน การบำรุงรักษาสาธารณูปโภค จากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดได้หรือไม่ ?

เห็นว่าเป็น “คำถาม” ที่ดี อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้จัดสรรที่ดิน และผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในโครงการจัดสรรที่ดินอย่างยิ่ง

ขอเรียนว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค (7%) ซึ่งผู้จัดสรรที่ดิน มีหน้าที่ต้องดำเนินการ ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน 2543 หากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรสามารถจดทะเบียนจัดตั้ง “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน 2543 และกฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบ และการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร 2545และเจ้าพนักงานที่ดินฯ ได้จดทะเบียนทรัพย์สิน (โฉนดที่ดิน) อันเป็นสาธารณูปโภคให้ตกเป็นของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคก็ต่อเมื่อผู้จัดสรรที่ดินได้ส่งมอบค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเรียบร้อยแล้ว ในทางตรงกันข้าม หากผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่สามารถจดทะเบียนจัดตั้ง “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” ภายในระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินกำหนด และตามกฎหมาย

หากผู้จัดสรรที่ดินยังคงแสดงความประสงค์ขอพ้นหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อไปอีก ผู้จัดสรรที่ดินสามารถดำเนินการตามมาตรา 44 (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่สอง) 2558 และระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางว่าด้วยการโอนสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น และการขออนุมัติดำเนินการเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค หรือดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์ 2559

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้จัดสรรที่ดินแสดงความประสงค์ขอจดทะเบียนโอนทรัพย์สิน อันเป็นสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์ ผู้จัดสรรที่ดิน มีหน้าที่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด หรือจังหวัดสาขา ดังต่อไปนี้

1. หลักฐานการดำเนินการ ตามมาตรา 44 (1)

2. หลักฐานแสดงว่าผู้ซื้อที่ดินจัดสรรไม่สามารถจดทะเบียนจัดตั้ง “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร”

3. หลักฐานการส่งเงินค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินต้องรับผิดชอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ

4. หลักฐานการรับทราบจากหน่วยงานภาครัฐที่จะรับโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภค และ

5. หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงสาธารณูปโภค

ทั้งนี้ การดำเนินการแสดงเอกสารหลักฐานดังกล่าว เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ว่าด้วยการโอนสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น และการขออนุมัติดำเนินการเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค หรือการดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สิน อันเป็นสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์ 2559 ข้อ 18 และ 19 ตามลำดับ

.......................................................

พิสิฐ ชูประสิทธิ์

นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุด – หมู่บ้านจัดสรรไทย

ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มบริษัทบีจีเอ กรุ๊ป