ฉายภาพสินทรัพย์ไตรมาส2

ฉายภาพสินทรัพย์ไตรมาส2

ฉายภาพสินทรัพย์ไตรมาส2

เดือนแรกของไตรมาส 2 ได้ผ่านพ้นไป ผมได้รับคำถามถึงทิศทางการลงทุนว่า ทำไมภาพการลงทุนถึงยังคงนิ่งๆ โดยรวมแล้วไม่ใช่เฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว แต่เป็นภาพการลงทุนทั่วโลกก็อยู่ในภาวะทรงตัวเช่นกัน เนื่องจากขาดปัจจัยใหม่ๆ ที่กระตุ้นหรือเข้ามากดดันอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน แต่ปัจจัยสำคัญที่คอยสนับสนุนการลงทุนอยู่ คือ สภาพคล่องอันท่วมท้น ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลกอย่างสหรัฐฯ (เฟด) ยุโรป (อีซีบี) และ ญี่ปุ่น (บีโอเจ) อย่างไรก็ดี ในคอลัมน์ฉบับนี้ ผมขอเสนอมุมมองภาพการลงทุนต่อสินทรัพย์แต่ละประเภท ดังนี้

ตลาดหุ้นไทย คาดว่าจะมีความผันผวนและแกว่งตัวออกด้านข้าง โดยปัจจัยเดิมๆ ที่ยังเป็นกังวลคงหนีไม่พ้นเรื่องมูลค่าหลักทรัพย์ ซึ่งในปัจจุบันซื้อขายกันที่ราคาสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต อาจทำให้มีการปรับประมาณการผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนหลังผ่านช่วงรายงานผลการดำเนินงานไตรมาสแรกเสียก่อน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีความอ่อนไหวกับประเด็นความเสี่ยงจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ เกาหลีเหนือ และซีเรีย รวมถึงการเลือกตั้งแบบเร่งด่วนของอังกฤษที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 มิ.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเสถียรภาพของรัฐบาลเทเรซา เมย์ และกระบวนการเจรจาถอนอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป 

ตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นอีกครั้งในเดือน มิ.ย. ตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ขณะที่ประเด็นความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีและซีเรียอาจกดดันผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในระยะสั้น รวมถึงการปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจและคาดการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ หากแผนการปฏิรูปภาษีขนาดใหญ่ของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เกิดความล่าช้า หรือไม่สามารถผ่านการอนุมัติจากสภาฯ เนื่องจาก รายละเอียดของร่างปฏิรูปยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการชดเชยรายได้ภาครัฐมูลค่ามหาศาลที่ต้องสูญเสียไปกับการลดภาษี ถึงแม้ว่าล่าสุดรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้เปิดเผยข้อเสนอภาษีบางส่วน อาทิ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดจาก 39.6% เป็น 35% พร้อมปรับลดขั้นภาษีจาก 7 ขั้น เหลือ 3 ขั้น ได้แก่ 10% 25% และ35% เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ขณะที่การเก็บภาษีอัตราพิเศษครั้งเดียวสำหรับบริษัทที่กำไรที่เกิดขึ้นนอกประเทศกลับเข้าสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น รวมถึงไฮไลท์ของร่างฉบับนี้ คือ การลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15% ซึ่งศูนย์ศึกษานโยบายภาษีสหรัฐฯ ระบุว่าหากลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% จะทำให้รายได้ภาครัฐลดลง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า และจะส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณและการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะในอนาคต

น้ำมัน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในช่วงนี้ คาดว่ามีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากคาดการณ์ว่าการประชุมโอเปกในวันที่ 25 พ.ค. จะมีมติขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตออกไป อีกทั้ง ราคาน้ำมันดิบน่าจะได้ปัจจัยสนับสนุนอื่นจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (Driving season) ในช่วงฤดูร้อนของของสหรัฐฯ ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบอยู่ใกล้กรอบล่างที่ระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ถือเป็นระดับที่น่าเข้าลงทุนเพื่อทำกำไรระยะสั้น

ทองคำ คาดว่าจะอิงไปกับปัจจัยความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ตามกระแสความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ผมยังคงแนะนำให้การถือครองทองคำเป็นเพียงแค่กลยุทธ์เพื่อจุดประสงค์ในการกระจายความเสี่ยง แต่ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจในช่วงที่เหลือของไตรมาส 2 ปี2560 นี้