ทรัมป์กลับลำ

ทรัมป์กลับลำ

ในระหว่างการเลือกตั้งนั้น นายโดนัลด์ ทรัมป์ หาเสียงโดยมีจุดยืนชัดเจนสำคัญ 4 ประการคือ

 1. โจมตีนโยบายเศรษฐกิจจีนอย่างหนักหน่วงว่าทำลายเศรษฐกิจสหรัฐ ดังนั้นจึงจะตราหน้าจีนว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (ทำให้เงินหยวนอ่อนและเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่า ทำให้สินค้าสหรัฐแข่งขันไม่ได้) เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี 2. เป็นมิตรที่ดีกับนายปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียทั้งในเชิงส่วนตัว และในความปรารถนาที่จะร่วมมือกับรัสเซียในการปราบไอซิส (ISIS) ซึ่งทรัมป์มองว่าเป็นภัยอันตรายสูงสุดกับสหรัฐ (จึงออกคำสั่งประธานาธิบดีห้ามคนจากประเทศมุสลิม 6 ประเทศเข้าสหรัฐ เพราะกลัวการแทรกซึมของไอซิส) 3. องค์กรนาโต้ (NATO) นั้นล้าสมัยไปแล้ว และสหรัฐก็ไม่ควรจะทุ่มเทกำลังและทรัพยากรในการสนับสนุนนาโต้ เพราะถูกประเทศสมาชิกนาโต้อื่นๆ เอาเปรียบ โดยการออกค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่ควร 4. ทรัมป์ไม่สนใจที่จะต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดี al-Assad ของซีเรีย แม้จะใช้อาวุธเคมีกับประชาชนซีเรียที่ต่อต้านรัฐบาลของตน เพราะรัฐบาลซีเรียก็ต้องการขับไล่และกวาดล้างไอซิสเช่นเดียวกับสหรัฐ

เวลาผ่านมาไม่ถึง 100 วันหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี นายทรัมป์กลับลำในจุดยืนดังกล่าวอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ดังที่เราได้เห็นนายทรัมป์กล่าวหลังการเยือนทำเนียบขาวของเลขาธิการนาโต้ (อย่างหน้าตาเฉย) ว่า “Nato is no longer obsolete” เพราะมีความสำคัญยิ่งในการต่อต้านการก่อการร้าย ในส่วนของความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้นก็ตกต่ำลงอย่างที่เรียกกันว่า “all time low” หรืออีกนัยหนึ่งที่ปรึกษาความมั่นคงของประธานาธิบดีคือ พลโท McMaster กล่าวว่า “nowhere to go but up” หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งให้โจมตีฐานทัพอากาศของรัฐบาลซีเรีย (ซึ่งรัสเซียให้การสนับสนุนอยู่) ด้วยจรวด Tomahawk 59 ลูก ตามมาด้วยการโจมตีกลุ่มไอซิสและตาลิบันที่อาฟกานีสถานด้วยระเบิด Moab หนักเกือบ 10,000 กิโลกรัมหรือใหญ่กว่าระเบิดปกติ 10 เท่า) ทำให้นักรบไอซิสเสียชีวิตไป 90 คน (ตามรายงานของบีบีซี) ซึ่งทำให้เห็นว่าทรัมป์พร้อมที่จะเข้าแทรกแซง โดยอาศัยกำลังทางการทหารในยุทธภูมิต่างๆ ทั้งๆ ที่นายทรัมป์ในขณะหาเสียงดูเหมือนจะเอนเอียงไปในเชิงโดดเดี่ยวนิยม (isolationism) และ protectionism ที่สืบเนื่องจากนโยบาย America First

แต่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างที่ผมนึกไม่ถึงคือจุดยืนเกี่ยวกับจีน ซึ่งเดิมทีทรัมป์หาเสียงสรุปได้ว่าจีนคือศัตรูทางเศรษฐกิจของสหรัฐ แต่มาวันนี้กลายเป็นว่าจีนเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่งของสหรัฐในการแก้ปัญหาเกาหลีเหนือ เพราะนอกจากกระทรวงการคลังของสหรัฐจะไม่กำหนดให้ประเทศจีนเป็นประเทศกีดกันการค้าในรายงานล่าสุดเมื่อ 14 เมษายนที่ผ่านมาแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังได้ทวีท (Tweet) เมื่อ 19.18 น. วันที่ 16 เมษายน (วัน Easter Sunday) ว่า

“Why should I call China a currency manipulator when they are working with us on the North Korea problem? We will see what happens!”

ซึ่งทำให้มองได้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ให้ความสำคัญกับเกาหลีเหนือมากกว่าปัญหาการค้า (อย่างน้อยในสภาวะปัจจุบัน ดังเห็นได้จากทวีทข้างต้นว่า “we will see what happens” ซึ่งผมตีความว่าต้องให้จีนเป็นแกนนำในการกดดันเกาหลีเหนือก่อนและเข้าใจว่ารัฐบาลทรัมป์ตั้งความหวังเอาไว้ว่าจีนนั้นมีอำนาจต่อรองสูงและน่าจะปรับทัศนะคติของเกาหลีเหนือในการลดทอนการสร้างอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกลได้ เพราะการส่งออกของเกาหลีเหนือนั้นเกือบ 70% เป็นการส่งออกไปให้จีน นอกจากนั้นบริษัทและสถาบันการเงินของจีนก็ยังมีบทบาทสำคัญในการให้บริการด้านการเงินให้กับเกาหลีเหนือ แต่หากการดำเนินการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จผมก็มีความเป็นห่วงว่าทรัมป์มีความพร้อมที่จะใช้กำลังทางการทหาร เห็นได้จากการใช้จรวด Tomahwak การใช้ระเบิด Moabc และทวีทข้างล่าง โดยเฉพาะประโยคสุดท้ายที่ดูเสมือนว่าการใช้กำลังทางการทหารเป็นตัวเลือกหนึ่งของทรัมป์จริงๆ

“Our military is building and is rapidly becoming stronger than ever before. Frankly, we have no choice!” 20.41 น. 16 เม.ย. 2017

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เชิญวุฒิสมาชิกทั้งหมด 100 คนไปที่ทำเนียบขาวเพื่อรับฟังการประเมินสถานการณ์เกาหลีเหนือ ซึ่งมิใช่การปฏิบัติในภาวะปกติ ดังนั้นความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีจึงจะยังดำรงต่อไป โดยหากมองในแง่ดีก็จะต้องคาดการณ์ว่าจีนจะกดดันเกาหลีเหนือทางเศรษฐกิจจนประสบความสำเร็จ ทำให้เกาหลีเหนือยอมยุติการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะทำให้สหรัฐพึงพอใจและลดแรงกดดันการค้ากับจีนลงไปด้วย ประเทศเอเชียอื่นๆ ที่ถูกจับอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองในการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนพร้อมกับจีนคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ก็น่าจะได้รับการอนุโลมทางการค้าไปด้วย แต่หากมีการพัฒนากรไปในทางลบก็อาจจะเห็นการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในเร็ววันนี้และความพยายามของจีนไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้รัฐบาลทรัมป์ส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นกับมาตรการทางการทหารเป็นทางเลือกที่อาจต้องนำมาใช้กับเกาหลีเหนือ ซึ่งน่าจะทำให้เกาหลีใต้ตกในที่นั่งที่ลำบากอย่างยิ่ง

ส่วนที่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่กลับลำคือความต้องการปฏิรูป (ลด) ภาษีซึ่งได้สั่งให้ทีมเศรษฐกิจนำเสนอแผนการปฏิรูปดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายนเช่นกัน แต่ปรากฏว่าตลาดหุ้นผิดหวังและดัชนีปรับลดลง เพราะมิได้มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากที่เคยหาเสียงมาแต่ย่างใด นอกจากนั้นรายละเอียดที่สำคัญก็ยังขาดหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นว่าจะหาเงินภาษีจากแหล่งใดมาชดเชยการลดภาษีรายได้บุคคลและนิติบุคคล ซึ่งผมจะได้เขียนถึงในครั้งหน้าครับ