ปฏิรูปภาษีสรรพสามิต -

ปฏิรูปภาษีสรรพสามิต -

ศุลกากรไทย รับมือนโยบายคำสั่งทรัมป์ กับ America First

จากการที่ประเทศไทยติดโผ 1 ใน 16 ประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุด โดยในปี 2559 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสินค้ากับไทยเป็นมูลค่า 18,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 8.7 และไทยถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 25 สำหรับสินค้าจากสหรัฐฯ ในปี 2559 ขณะที่สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของสินค้าจากไทยในปี 2559 นั้น ล่าสุดสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ได้สั่งให้มีคำสั่งพิเศษเพื่อตรวจสอบหาเหตุผล และหาแนวทางดำเนินการเพื่อ “หยุด” สภาพการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ

ผู้เขียนขอวิเคราะห์ให้เห็นถึงตัวบ่งชี้สำคัญที่ไทยควรให้ความสำคัญ เพราะจะเป็นปัจจัยในการกำหนดท่าทีการค้าให้สอดคล้องตามนโยบาย อเมริกามาก่อน’ (American First) ของสหรัฐฯ โดยอ้างถึงรายงานการประเมินอุปสรรคทางการค้าของประเทศต่างๆ ที่มีผลต่อการค้าของสหรัฐประจำปี 2560 ที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) รวบรวมไว้เพื่อใช้ในการเจรจาหรือดำเนินการทางการค้ากับประเทศต่างๆ ซึ่งกล่าวถึงอุปสรรคทางการค้าของไทยที่สำคัญไว้ อาทิ มาตรการควบคุมการนำเข้าเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ อัตราภาษีนำเข้าที่ยังคงสูงอยู่เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ อัตราภาษีสรรพสามิตที่สูง และอุปสรรคด้านศุลกากรในการนำเข้า โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตและศุลกากร ซึ่งเป็นประเด็นที่มีพัฒนาการมายาวนานจนล่าสุดได้มีการจัดทำกฎหมายใหม่ขึ้นมาแล้ว

ประเด็นแรก คือ การปฏิรูปกฎหมายศุลกากร ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจสหรัฐฯในประเทศไทยได้มีส่วนร่วมผลักดันมาเป็นเวลายาวนาน แม้ว่ารายงานของยูเอสทีอาร์ จะถูกยกร่างขึ้นก่อนที่ ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ....จะผ่าน สนช. ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่เนื้อหารายงานฯ ก็ได้กล่าวถึงการจัดทำกฎหมายศุลกากรใหม่ที่จะมีบทบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการควบคุมการจ่ายเงินรางวัลให้แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากร และการปรับฐานความผิดและบทกำหนดโทษในความผิดทางศุลกากรโดยให้มีการคำนึงถึงเจตนาแห่งการกระทำด้วย 

ทั้งนี้ สหรัฐฯ มองว่าระบบการจ่ายเงินรางวัลและบทกำหนดโทษ ตลอดจนอำนาจการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ได้เปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น และระบุว่าสหรัฐฯ จะเดินหน้าผลักดันให้มีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

อย่างไรก็ตาม ร่าง พรบ.ศุลกากร พ.ศ... ก็ได้ตั้งเพดานการจ่ายเงินรางวัลให้เจ้าหน้าที่แล้ว คือ ไม่เกินคดีละ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ต้องคำนึงถึงเรื่องเจตนาแห่งการกระทำด้วยสำหรับประกอบการพิจารณาความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร รวมทั้งแก้ไขบทกำหนดโทษให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกฎหมายใหม่นี้จะส่งผลดีในทางปฏิบัติ ช่วยลดอุปสรรคด้านการนำเข้าให้แก่ทั้งผู้ส่งออกในสหรัฐฯและบรรดานักลงทุนต่างชาติในไทยที่ต้องนำเข้าสินค้า วัตถุดิบและเครื่องจักรต่างๆ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าลงทุนและน่าทำการค้าด้วย

ประเด็นที่สอง คือ ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ภาคธุรกิจสหรัฐฯในประเทศไทยได้มีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตลอด โดยในรายงานของยูเอสทีอาร์ระบุว่า อัตราภาษีสรรพสามิตของไทยในบางกลุ่มสินค้าถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาค เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาสูบด้วยและระบุด้วยว่าไทยกำลังพิจารณาการขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตอีกรอบ ซึ่งอาจจะสร้างภาระภาษีให้แก่สินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นไปอีก

รายงานดังกล่าวยังพูดถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของไทย ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดคือได้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายฉบับใหม่โดยจะมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ในวันที่ 16 กัน.ย.นี้ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ การใช้ราคาขายปลีกแนะนำมาเป็นฐานภาษีสรรพสามิตและเพิ่มการจัดเก็บภาษีทั้งแบบมูลค่าและปริมาณ ซึ่งย่อมเป็นประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯ ต้องติดตามดูอยู่ด้วยว่าจะมีผลต่อโครงสร้างภาษีอย่างไร และจะเป็นการเพิ่มหรือลดอุปสรรคทางการค้ากันแน่ เพราะภาคธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนต้องการโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่มีความเป็นธรรมและเป็นสากล เช่น การจัดเก็บภาษีบนราคาขายปลีกแนะนำหรือ การจัดเก็บภาษีในระบบผสมที่ให้น้ำหนักภาษีตามปริมาณมากกว่าภาษีตามมูลค่า

 รวมถึงการกำหนดอัตราภาษีแบบอัตราเดียวสำหรับสินค้าประเภทเดียวกันไม่ว่าจะยี่ห้อใด ราคาเท่าไหร่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม และไม่เป็นการกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้านำเข้าที่มักจะมีราคาแพงกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ นอกจากนี้ก็ยังจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไทยในระยะยาวด้วย เพราะการจัดเก็บภาษีระบบผสมที่เน้นภาษีตามปริมาณและเก็บแบบอัตราเดียวนั้น จะช่วยให้รัฐจัดเก็บรายได้ภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อุดช่องว่างเรื่องการสำแดงราคาขายปลีกต่ำๆ เพื่อลดภาระภาษี และยังลดการสูญเสียรายได้ภาษีจากการที่ผู้บริโภคหันไปนิยมซื้อสินค้าราคาถูกลงๆ ด้วย

ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะรับข้อกังวลที่ระบุในรายงานยูเอสทีอาร์มาพิจารณาในกระบวนการออกกฎหมายลูกต่างๆ ของทั้ง พรบ. ภาษีสรรพสามิต และ พรบ. ศุลกากร เพื่อให้ตอบโจทย์การปฏิรูปทั้งภายและภายนอกประเทศ เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนในระบบการจัดเก็บภาษีภายในประเทศ และในขณะเดียวกันก็แสดงให้ต่างชาติเห็นว่า รัฐบาลไทยจริงจังกับการปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการทำธุรกิจการค้าการลงทุนอย่างแท้จริง

.................................................................................

มัลลิกา ภูมิวาร

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีศุลกากรและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ

บริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี คอนซัลติ้ง จำกัด และที่ปรึกษาธุรกิจภาคเอกชน