อย่าให้ความโลภบังตา

อย่าให้ความโลภบังตา

ตลอดเดือนเม.ย.นี้ เราจะเห็นข่าวการชักจูง หลอกลวง ให้ลงทุนในธุรกิจต่างๆ มากมาย

 โดยเอาตัวเลข “ผลตอบแทน” ลวงๆ มาเป็นเหยื่อล่อใจ จนหลายคนตกเป็นเหยื่อเสียเอง ถ้านับเฉพาะเดือนนี้มีเคสใหญ่ๆ ไม่ต่ำกว่า 4 เคส ด้วยกัน

เริ่มตั้งแต่เคสของ “ซินแซโชกุน” ที่ตั้งบริษัท เวลท์เอฟเวอร์ จำกัด ขึ้นมาหลอกลวงประชาชนให้ซื้อสินค้าประเภทอาหารเสริม เพื่อแลกกับโปรโมชั่นทัวร์เดินทางไปญี่ปุ่นราคาถูก โดยมีผู้เสียหายหลายพันคนตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงก่อนสงกรานต์ไม่กี่วัน เคสนี้ประเมินกันว่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท

ถัดมาไม่กี่วัน มีเคสของ แพทย์หญิงโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ร่วมกับแฟนหนุ่มเปิดบริษัททัวร์ชื่อ บริษัท วี สยาม เอเจนซี่ จำกัด แล้วไปหลอกลวงเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งประชาชนทั่วไปให้มาร่วมลงทุนในบริษัททัวร์และจองโรงแรมผ่านบริษัทดังกล่าว โดยอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนราว 6-18% ต่อเดือน จนมีผู้เสียหายเกือบ 40 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 64 ล้านบาท

ในเวลาไล่เลี่ยกันก็ปรากฏเคส “เหมืองแร่ทองคำ” โดยผู้หลอกลวงได้ตั้ง บริษัท เกสูมาโกตา (ประเทศไทย) จำกัด โดยหลอกลวงให้คนมาลงทุนในเหมืองแร่ทองคำนี้ ถึงขนาดลงทุนพาเหยื่อไปดูเหมืองแร่ที่นำมาใช้ในการหลอกลวง ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย จนเหยื่อตายใจ มีผู้เสียหายหลายสิบคน 40 คน มูลค่าความเสียหายร่วม 500 ล้านบาท

ที่ฮือฮามากสุด น่าจะเป็นเคส “สหกรณ์ลอตเตอรี่” ซึ่งผู้หลอกลวงมีดีกรีระดับ “ดอกเตอร์” แถมยังเป็นอดีตประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานในอดีต จึงง่ายต่อการหลอกลวง เคสนี้จึงมีผู้เสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายที่ประเมินคร่าวๆ ไม่น้อยกว่า 1,400 ล้านบาท

ล่าสุดมีอีกหนึ่งเคส คือ กรณี “วันคอยน์” ที่ชักชวนให้มาลงทุนใน “เงินเสมือนจริง” โดยอ้างว่าเป็นเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนี้ และยังให้ผลตอบแทนดี พบว่ามีการระบาดอย่างมากในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเคสนี้หน่วยงานทางการกำลังติดตามดูอย่างใกล้ชิด ล่าสุดเพิ่งมีคำเตือนออกมาจากทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

กรณีของ ธปท. ระบุชัดเจนว่า วันคอยน์ ไม่ใช่เงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย และปัจจุบันก็ยังไม่มีประเทศใดยอมรับหรือรับรองว่า วันคอยน์ ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ประชาชนจึงควรระมัดระวัง ศึกษาข้อมูลให้ละเอียด เพราะมีความเสี่ยงที่มูลค่าของหน่วยเงินเสมือนจริงที่อ้างขึ้นมานี้ จะมีความผันผวน ปรับขึ้นลงได้รวดเร็ว ที่สำคัญ อาจเป็นช่องทางในการหลอกลวงและฉ้อโกงประชาชนได้

จะเห็นว่าทุกเคสที่กล่าวมา ผู้ชักจูงหลอกลวงให้มาลงทุน อาศัยการ “อุปโลกน์” ผลตอบแทนลวงๆ ขึ้นมาเพื่อล่อตาล่อใจ บางรายใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานในอดีตหรือสร้างภาพตัวเองขึ้นมาให้ดูมีความน่าเชื่อถือ เมื่อภาพลักษณะดูน่าเชื่อถือบวกกับผลตอบแทนที่ปั้นขึ้นมาแบบลวงๆ ก็ทำให้เหยื่อติดกับดักอย่างง่ายดาย

เราเข้าใจดีว่ารูปแบบการหลอกลวงถูกปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา กระบวนการหลอกลวงมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เวลาที่ถูกใครก็ตามชักชวนให้ไปลงทุนในธุรกิจใดๆ สิ่งสำคัญที่ต้อง “หยุดคิด” และ “ตอบตัวเอง” ให้ได้ก่อน นั่นคือ การลงทุนที่ว่านี้ ลงทุนอะไร ผลตอบแทนที่ได้มานั้น มาอย่างไร สมเหตุสมผลหรือไม่ หากดูไม่ชอบมาพากล ถอยห่างออกมาดีกว่า เพราะถ้าหลวมตัวใส่เงินเข้าไป คงยากที่จะได้คืน