ทุกสำนักเร่งวิเคราะห์ : สงครามอยู่ที่กี่ %

ทุกสำนักเร่งวิเคราะห์ : สงครามอยู่ที่กี่ %

“We want to bring Kim Jong-un to his senses, not to his knees…”

ประโยคนี้มาจากปากของพลเรือเอกแฮรี่ แฮร์ริส (Adm Harry B. Harris) ผู้บัญชาการทหารสหรัฐในแปซิฟิก

แปลให้ได้ความหมายง่าย ๆ คือ “เราต้องการให้คิมจองอึนตระหนักในเหตุและผล ไม่ใช่กดดันให้เขาหมดท่าถึงกับต้องคุกเข่าต่อหน้าเรา...”

หรืออีกนัยหนึ่ง กลยุทธ์ของสหรัฐในสายตาของนายทหารมะกันคนนี้คือไม่ได้ต้องการล้มล้างคิม แต่ต้องการให้ผู้นำเกาหลีเหนือคนนี้เข้าใจถึงอันตราย ที่จะเกิดขึ้นกับเขาหากไม่ยอมเลิกพัฒนานิวเคลียร์

นายพลทหารเรือคนนี้ให้การกับกรรมาธิการทหารของสภาผู้แทนราษฎรวันก่อนว่า “ในการเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่มีพฤติกรรมนอกลู่นอกทางอย่างเกาหลีเหนือนั้น มีความสำคัญมากที่เราจะต้องแสดงความมุ่งมั่นทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย ทั้งทางการทูตและการทหาร...”

แปลความได้ว่าการแสดงแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐในช่วงนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องการเปิดศึกสงคราม หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของการกดดันให้ “คิมน้อย” รู้ว่าไม่คุ้มที่จะคิดต่อกรกับสหรัฐทางทหาร ควรหาทางลงทางการเมืองและการเจรจาจะดีกว่า

แต่ด้านคิมจองอึน จะรับสัญญาณเหล่านั้นตามเป้าประสงค์ของสหรัฐหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

หากประเมินจากความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือในช่วงนี้ วิเทโศบาย “ชูกล้ามเพื่อไม่ต้องทำสงคราม” ของสหรัฐไม่ได้สร้างความสะดุ้งสะเทือนให้กับโสมแดงเลย

ทุกสำนักทั่วโลกกำลังวิเคราะห์กันอย่างคึกคัก ว่าจะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือหรือไม่?

คำแถลงทางการของรัฐมนตรีและแม่ทัพนายกองของสหรัฐ จะบอกว่าเป้าหมายไม่ใช่สงคราม และการแสดงแสนยานุภาพด้วยกองเรือจู่โจม เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือดำน้ำนิวเคลียร์ การซ้อมรบทางทะเลกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นนั้นล้วนแล้วแต่เป็น “เครื่องมือ” ในการส่งสัญญาณเตือนไปยังคิมจองอึนทั้งสิ้น

แต่ถึงวันนี้ผมก็ยังไม่เห็นสัญญาณว่า แนวทางอย่างนี้ของสหรัฐจะเกิดผลดั่งที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่

เพราะแม้จะป่าวประกาศว่าสหรัฐกำลังขอให้จีนพูดจาเกลี้ยกล่อมเกาหลีเหนือ ให้ลดละจากการผลักดันให้สถานการณ์เสื่อมทรุดถึงขั้นเกิดสงคราม แต่จีนก็ยังไม่ได้ “ส่งการบ้าน” ตามที่โดนัลด์ ทรัมป์ ไหว้วานให้ทำ

ปักกิ่งออกมาเตือนทั้งสหรัฐและเกาหลีเหนือด้วยซ้ำว่าต่างฝ่ายต่างต้อง “ยับยั้งชั่งใจ” (restraint) ไม่ทำอะไรบุ่มบ่ามจนเกิดการ “ประเมินผิดพลาด” (miscalculation) จนทำให้เกิดสงครามที่จะมีผลรุนแรงหนักหน่วงกว่าที่ใครจะทำนายล่วงหน้าได้

ด้านหนึ่งจีนพยายามจะทำตามคำขอร้องของสหรัฐ ที่ให้พูดจาหว่านล้อมเกาหลีเหนือซึ่งก็ไม่ได้เป็น “เด็กดี” อย่างที่ปักกิ่งต้องการจะเห็น

อีกด้านหนึ่งจีนก็หงุดหงิดกับสหรัฐ ที่เดินหน้าติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD (Terminal High Altitude Area Defence) ในเกาหลีใต้ เพราะจีนเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อตัวเอง และเป็นการสร้างความสงสัยคลางแคลงระหว่างกันมากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือสกัดขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ

เอาเข้าจริงๆ ที่บอกว่ามะกันไม่ได้แสดงแสนยานุภาพทางทหาร เพื่อจะเปิดศึกสงครามกับเกาหลีเหนือ เป็นเพียงการกดดัน ตักเตือนและกระตุ้นให้โสมแดงตระหนักว่า ต้องหาทางลงด้วยการเจรจานั้น ยังไม่มีอะไรที่จะแสดงว่ากลยุทธ์เช่นว่านี้ จะนำไปสู่ผลทางด้านบวกแต่อย่างไร

ไม่ว่าสำนักไหนที่พยากรณ์ว่า “ไม่เชื่อว่าจะมีสงคราม” ก็ไม่กล้าฟันธง 100% เพราะยังมีปัจจัยไม่แน่นอนในบรรยากาศตึงเครียดเช่นนี้สูงอย่างยิ่ง

ไม่มีใครอยากทำสงคราม แต่โอกาสเกิดอุบัติเหตุและ “ประเมินผิดพลาด” นั้นยังมีอยู่สูง... ซึ่งแปลว่ายังไม่มีใครวางใจได้เลยว่าสงครามจะไม่เกิด ไม่ว่าใครจะอ้างว่าพยายามจะหลีกเลี่ยง “หายนะ” อย่างไรก็ตาม

ลงท้ายก็ต้องสรุปว่า “คาดหวังภาพที่ดีที่สุด แต่เตรียมการสำหรับสถานการณ์แย่สุด” (Hope for the best, prepare for the worst)!