บริหารจัดการท่องเที่ยว หลังอิงเศรษฐกิจไทย

บริหารจัดการท่องเที่ยว หลังอิงเศรษฐกิจไทย

ถามถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ประเทศไทย นอกจากจะตั้งอยู่ “ศูนย์กลาง” อาเซียน 10 ประเทศ

 ทำให้สามารถยกฐานะเป็น “ฮับ” ด้านการค้า การลงทุน รวมถึงโลจิสติกส์ ในอาเซียนได้ไม่ยาก โดยเฉพาะการเป็น “ประตูการค้า” ประเทศในกลุ่มอินโดจีน หรือ ซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ยิ่งอาเซียนรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ยิ่งเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจ 

อีก“ต้นทุนเดิม”ที่ไทยมี คือการมีทรัพยากรธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวที่งดงาม อาทิ ทะเล ภูเขา รวมถึงวัฒนธรรมที่แปลกต่างในแต่ละภูมิภาคของประเทศ อวดสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ปีหนึ่งๆสร้างรายได้เข้าประเทศในระดับ “ล้านล้านบาท”

โดยในปีที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สรุปภาพรวมท่องเที่ยวไทย พบว่าสามารถสร้างรายได้ 2,510,779 ล้านบาท สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทย คิดเป็น 17.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) แบ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ หรือต่างชาติเที่ยวไทย 1,641,268 ล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย 869,510 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาสสองของปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวรวมไว้ที่ 6.3 แสนล้านบาทขยายตัว 11% 

แบ่งเป็น รายได้จากตลาดต่างประเทศ 4 แสนล้านบาท ขยายตัว 11% จากจำนวนนักท่องเที่ยว 8.02 ล้านคน ขยายตัว 6% ส่วนตลาดไทยจะสร้างรายได้ราว 2.3 แสนล้านบาท ขยายตัว 9% โดยมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนครั้ง ขยายตัว 5%

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทย จะมีสิ่งที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่พยายามจะหาแม่เหล็กดึงดูดการลงท่องเที่ยวด้วยสิ่งที่มนุษย์สรรค์สร้าง มาเป็นจุดขาย ทว่าเสน่ห์เหล่านี้อาจหมดลง หากขาดการ“บริหารจัดการ”ทรัพยากรที่ดีพอ แม้ว่าระยะหลังหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของไทยจะตระหนักถึงปัญหานี้ โดยมีนโยบายชัดว่าจะไม่เน้นปริมาณนักท่องเที่ยว แต่ต้องการ “คัดกรอง” นักท่องเที่ยวคุณภาพเข้าประเทศ เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัว 

รูปธรรมหนึ่งที่สะท้อนถึงความตั้งใจนั้นคือการร่วมมือกับทางการจีนในการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย (ทัวร์ศูนย์เหรียญ) แม้ว่าผลกระทบของมาตรการจะ“ช็อก”นักท่องเที่ยว ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณมากที่สุดของไทยลดลงค่อนข้างมาก ก่อนที่ตลาดจะปรับฐาน สู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น ถึงถือเป็นการยอมเจ็บ เพื่อแลกกับอนาคตที่ดีกว่า  

ที่ผ่านมา เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ยังจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวประจำปีนี้ ในหมวดการขนส่งทางบกและท่าเรือ ไทยมีคะแนน 3.1 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอาเซียน ซึ่งอยู่ที่ 3.5 และเป็นรองคู่แข่งชั้นนำในภูมิภาคทั้ง สิงคโปร์ และมาเลเซีย เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงปัญหาการ“บริหารจัดการ”ที่ส่งผลกระทบต่อการผลักดันรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตทั้งสิ้น หมดเวลา“กินบุญเก่า”ถึงเวลา“บูรณาการ”ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยวอย่างจริงจังว่า จะช่วยกันผลักดันการท่องเที่ยวให้เติบโต เป็นอีกที่พึ่งของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนได้อย่างไร