'ดิจิทัล' ป่วนสังคม-เศรษฐกิจ

'ดิจิทัล' ป่วนสังคม-เศรษฐกิจ

เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นเร็ว และถูกนำมาส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในสังคม

 ในธุรกิจ ได้สร้างผลกระทบทั้งเชิงบวก และเชิงลบต่อวิถีการใช้ชีวิต วิถีการทำธุรกิจในโลกยุคนี้อย่างยากสกัดกั้น การไหลบ่าของเทคโนโลยีวันนี้ สร้างความปั่นปวนไปทุกอุตสาหกรรมแบบไม่มีข้อยกเว้น เราจึงเห็นปมปัญหาที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้สม่ำเสมอ 

ใน ‘ไทย’ เองถูกป่วนโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในระยะหลังนี้ถี่ขึ้น (Digital Disruption) จนเกิดเป็นประเด็นทั้งทางสังคม และทางเศรษฐกิจมากมาย ท่ามกลางโครงสร้างพื้นฐานทั้งเรื่อง คน และ กฏหมาย ความเข้าใจของผู้บริหารบ้านเมือง ผู้คุมกฏ ที่ต้องยอมรับว่า “ตามไม่ทัน” กับความปั่นปวนที่เกิดขึ้นเลย และเพราะปรับตัวไม่ทัน ก็เลยต้องใช้วิธี “ควบคุม” ซึ่งเชื่อกันว่าจะบรรเทาปัญหาลงได้

ไม่กี่วันก่อน บอร์ด กสทช. ประชุมวาระพิเศษ พิจารณาเรื่องการเผยแพร่เนื้อหาบนโครงข่ายอื่นนอกเหนือจากโครงข่ายกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุ และ โทรทัศน์ หรือเราเรียกว่า ‘โอทีที’ (Over The Top ) ด้วยเหตุผลว่า มีผลกระทบกับสื่อทีวีดิจิทัล สร้างความเป็นไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน และเกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยให้พ.อ.นที ศุกลรัตน์ นั่งเป็นประธาน และตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาเฉพาะเพื่อศึกษา กำกับดูแลในประเด็นนี้

ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า โอทีที คือ ธุรกิจที่ใช้ความสามารถของแอพพลิเคชั่นผนวกเข้ากับช่องทางการสื่อสารในธุรกิจโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมกระจายเสียงแพร่ภาพ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ค ยูทูบ การไลฟ์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงข่ายสื่อสาร แต่ใช้แอร์ไทม์ผู้ให้บริการในการทำธุรกิจ โดยไม่ได้แบ่งส่วนแบ่งรายได้ หรือหักภาษี จึงควรวางแนวกำกับดูแล เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน และผู้ประกอบการธุรกิจ

ขณะที่ อีกประเด็น ที่ทางกสทช.กำลังดำเนินการ คือ เรื่อง CDN (Content Delivery Network) ที่มีความอ่อนไหวเรื่องเนื้อหา ข้อความที่หมิ่นเหม่ ผิดศีลธรรมอันดี ที่อยู่บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตต่างๆ  ควรต้องถูกควบคุม ดูแล โดยเฉพาะหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี รวมไปถึงผู้ให้บริการด้านเกตเวย์ต่างประเทศเองที่ต้องถูกเข้มงวดในประเด็นนี้เป็นพิเศษ

ยังไม่นับปัญหาที่ผ่านมาๆ ทั้งอูเบอร์ แกร็บ หรือ แม้กระทั่งกรณีของ บิตคอยน์ วันคอยน์ เงินสกุลดิจิทัล ที่สร้างความสับสน อลหม่าน เกิดเป็นปัญหาสังคมมากมาย

ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ล้วนมาจากเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ที่โครงสร้างพื้นฐานหลายๆ เรื่องของประเทศเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกับสิ่งเหล่านี้เลย ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีบริหาร วิธีใช้ประโยชน์ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีเหล่านี้ เร่งหาแนวทางสร้างความเข้าใจต่อสังคม ธุรกิจ ผู้ใช้งานให้ก้าวทันโลกแบบชาญฉลาด ไม่ตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี แต่ต้องไม่ใช่การ “ปิดกั้น” จนละเลยสิทธิการรับรู้ที่มนุษย์พึงมี (เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิรับรู้)

แต่ควรหาแนวทางหลากหลาย รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่แน่นอนว่า “รอ” ถาโถมเข้ามาในสังคมไทยอีกมากมายมหาศาลในอนาคต พลิกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือพัฒนาเพิ่มขีดแข่งขันให้เอสเอ็มอี สร้างบริการใหม่ๆ จากเทคโนโลยีให้คนทั่วไปเข้าถึงได้เท่าเทียม ทำให้คุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้น...