ร่างกฎหมายสื่อใหม่ คือเผด็จการเต็มรูปแบบ

ร่างกฎหมายสื่อใหม่ คือเผด็จการเต็มรูปแบบ

ความพยายามที่จะ “ตีทะเบียน” คนทำสื่อโดยให้อำนาจนี้ แก่คนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ"

 ตามร่างกฎหมายที่กำลังจะเสนอสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ จะกลายเป็นเรื่องอัปยศที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

กลุ่มผู้นำเสนอพระราชบัญญัติฉบับนี้อ้างว่าเป็นร่างกฎหมายเพื่อ “คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน”

แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการกำกับ ควบคุมและตีทะเบียนสื่อ เพื่อกำจัดเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง

เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่าใครจะประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาต

ใครเป็นคนให้ใบอนุญาตร่างกฎหมายบอกว่าคือ “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งจะมีกรรมการ 15 คนประกอบด้วยผู้แทนสภาวิชาชีพ 7 คน ปลัดสำนักนายกฯ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะกรรมการอื่นอีก 4 คนซึ่งกำหนดคุณสมบัติคือต้องเป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการและภาคประชาชน

ใบอนุญาตนั้นจะได้มาอย่างไร? คนร่างอ้างว่าจะมีบทเฉพาะกาล กำหนดให้สื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนวันที่จะมีกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ จากนั้น ภายใน 2 ปี ต้องเข้าสู่ระบบของสภาวิชาชีพฯ

บุคคลที่จะทำอาชีพสื่อมวลชนหลังกฎหมายบังคับใช้ต้อง “ผ่านการอบรมปฐมนิเทศ”

ใครไม่เข้าระบบใบอนุญาตจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทกันทีเดียว!

ขอให้ทราบโดยทั่วกันว่าคนวงการทำสื่อต่อต้านเรื่องนี้อย่างสุดฤทธิ์ครับ และจะประท้วงถึงที่สุด ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อให้ประชาชนได้รู้ว่านี่คือความพยายามที่จะปิดปากประชาชน ให้ผู้มีอำนาจมาครอบงำการไหลเทอันเสรีของข่าวสาร เป็นการสวนทางกับการ “ปฏิรูป” ให้ประเทศไทยก้าวสู่ 4.0 ซึ่งเน้นนวัตกรรมและการเปิดกว้างให้กับการแสดงความคิดเห็นและความคิดใหม่ ๆ อย่างเสรีอย่างแท้จริง

คนเสนอร่างพยายามจะอ้างว่าในคณะกรรมการสภาอาชีพฯ นี้ จะมีตัวแทนจากวงการสื่อมากกว่าจากรัฐบาล

ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงสัดส่วนใครจากไหน

ประเด็นอยู่ที่ความคิดที่จะให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีอำนาจออกใบอนุญาตให้ใครทำสื่อได้ ใครทำสื่อไม่ได้นั้นเป็นวิธีคิดแบบเผด็จการ ที่ต้องการจะควบคุมความคิดเห็นของประชาชน

แม้จะให้คณะกรรมการของสภาอาชีพสื่อฯ ชุดนี้เป็นตัวแทนจากสื่อทั้ง 100% ก็รับไม่ได้

เพราะผิดหลักการสากลที่ว่าอาชีพสื่อสารมวลชนเป็นอาชีพที่คนทุกคนสามารถทำได้ ตราบเท่าที่ยึดถือหลักจริยธรรม และความรับผิดชอบตามกฎหมายและกติกาของสังคม

เพราะเสรีภาพของสื่อก็คือเสรีภาพของประชาชน ใครต้องการตีตรวนหรือตีทะเบียนคนทำสื่อก็คือการกักขังความคิดของประชาชน

คนกลุ่มหนึ่งไม่ว่าจะเป็นใครไม่ควรจะมีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต ให้ใครประกอบอาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องเรียนอะไรมาหรือมีพื้นภูมิทางด้านไหน ตราบที่สามารถทำหน้าที่เป็น “สื่อที่รับผิดชอบ” และทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนได้

ร่างกฎหมายฉบับนี้อันตรายอย่างยิ่งเพราะกำลังมอบอำนาจให้กำหนดว่าใครบ้างที่ทำหน้าที่สื่อได้

เพราะใครมีอำนาจให้ใบอนุญาตก็มีอำนาจถอนใบอนุญาต

 สื่อที่ต้องทำงานภายใต้อำนาจเช่นนี้ ก็ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างตรงไปตรงมาได้ ไม่อาจจะตั้งคำถามที่ผู้มีอำนาจไม่ชอบ อีกทั้งนักการเมืองก็สามารถที่จะแทรกแซงการทำงานของสื่อผ่าน “สภาวิชาชีพสื่อฯ” นี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างแน่นอน

ยิ่งในยุคสมัครที่ “ทุกคนเป็นนักข่าว” ได้เพราะเทคโนโลยี การเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการถอยหลังเข้าคลองอย่างให้อภัยไม่ได้ เพราะหากตีความตามที่เสนอ ใครที่เขียนแสดงความเห็นในสื่อ social media ก็จะเข้าข่ายต้องขอใบอนุญาตเป็นสื่อ

อย่างนี้มิแปลว่าคนค่อนประเทศจะกลายเป็น “สื่อที่ต้องขอใบอนุญาต” เพียงเพื่อแสดงความเห็นในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศหรือ?

คำถามสำคัญก็คือว่าคณะกรรมการของ “สภาวิชาชีพสื่อฯ” ที่ว่านี้จะกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตเป็นสื่อได้นั้นอย่างไร? ต้องจบวารสารศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์หรือ? จบ ป. 4 ได้ไหม? จบแพทย์หรือวิศวกรรมศาสตร์ได้หรือไม่? ต้องมีประสบการณ์อะไรมาก่อนหรือเปล่า?

ไม่ว่าจะเขียนกติกาใหม่นี้อย่างไร ก็จะเป็นการสร้างเงื่อนไขที่สวนทางกับการปฏิรูปประเทศ ให้ไปสู่สังคมแห่งนวัตกรรมและการเปิดกว้าง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย

ตลกร้ายมาก ๆ ก็คือที่ผู้เสนอกฎหมายนี้บอกว่าคนขอใบอนุญาตเป็นสื่อจะต้องผ่านการ “อบรมและปฐมนิเทศ” ก่อน

ใครจะเป็นคนอบรมครับ? อบรมอะไรครับ? คนที่อบรมมีคุณสมบัติเป็นสื่อได้ดีกว่าคนถูกอบรมหรือครับ?

เพราะคนสื่ออยู่ภายใต้กฎหมายแพ่งและอาญามากมายหลายฉบับเต็มประตูแล้ว ไม่ได้มีอภิสิทธิ์เหนือใครอะไรทั้งสิ้น

ใครที่คิดจะควบคุมเสรีภาพแห่งการแสดงออกของสังคม ใครคนนั้นคืออุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศชาติ