เปลี่ยน “ฟังและทำตาม” เป็น “คิดแล้วทำเอง”

เปลี่ยน “ฟังและทำตาม” เป็น “คิดแล้วทำเอง”

เพราะการทำงานในโรงงาน สถานประกอบการ หรือองค์กรต่างๆ โจทย์ของการแก้ปัญหา และคำถามที่ท้าทายความสามารถเกิดขึ้นทุกวัน

การกระตุ้นจูงใจหรือโน้มน้าวให้พนักงานในองค์กร คิดในแบบเดียวกับที่ผู้บริหารได้แสดงวิสัยทัศน์ มีความสำคัญและจำเป็นมากกว่าการแค่สร้างมาตรฐานการทำงานและให้ทุกคนทำตาม

เหมือนในอดีตที่ผ่านมา อาทิ ระบบมาตรฐาน ISO9000 ซึ่งเป็นขั้นต้นที่ทุกองค์กรพึงมี เพียงเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีข้อบกพร่องผิดพลาดเท่านั้น แต่การสร้างมูลค่าเพิ่มและเติมเต็มธุรกิจเดิมด้วยสิ่งใหม่ต้องใช้เวลา และการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมที่มากกว่า

 

ในทางมนูษยวิทยาหรือสังคมศาสตร์ มักจะรู้กันดีกว่าเป้าหมายและความอยากได้อยากเป็นของแต่ละคนนั้น ล้วนแตกต่างกันไปอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและบริบทแวดล้อมของคนนั้นๆ พนักงานระดับล่างสูดก็จะมุ่งที่เงินเดือนผลตอบแทน ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ในขณะที่ผู้บริหารอาจจะมุ่งหวังไปที่ชื่อเสียง ผลงาน และการยอมรับจากคนในวงสังคม ซึ่งเป็นไปตามหลักที่เรียกว่า Hierarchy of Needs ซึ่งอธิบายว่าความต้องการของคนจะเริ่มจากพื้นฐานคือ ปัจจัยสี่ และเมื่อได้รับแล้วก็จะมีความต้องการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

 

ที่กำลังจะอธิบายอยู่นี้คือการที่องค์กรจะขยับปรับตัวเองจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทั่วไป ที่มุ่งตอบสนองต่อคนกลุ่มใหญ่ในราคาที่ไม่สูงมากนัก ไปสู่การผลิตสินค้าสร้างสรรค์ ที่มีความแตกต่างและตอบสนองต่อรสนิยมของคนกลุ่มเฉพาะ โดยพร้อมยินดีที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้น ในขณะที่สินค้านวัตกรรม จะเป็นจุดที่ยากที่สุด เพราะต้องนำเสนอสิ่งใหม่ที่ไม่ใช่แค่เป็นความแปลกแตกต่างในเชิงรูปลักษณ์ และการตอบสนองทางอารมณ์ของผู้บริโภคเท่านั้น หากแต่ใส่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้านำสมัย และส่งผลในเชิงฟังก์ชั่นแบบก้าวกระโดด อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มาก หรืออาจถึงขั้นล้มล้างสิ่งเดิม

 

แต่การจะประเทศไทยจะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากการเป็นประเทศที่เป็นแหล่งผลิตของสินค้าอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือไปให้สุดจนถึงการเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมแบบที่นโยบายรัฐได้กำหนดไว้ ทั้งการยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิม และเพิ่มเติมด้วย 5 อุตสาหกรรมใหม่ (new S curve) ได้นั้น บุคลากรและคนทำงานต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

เยาวชนคนรุ่นใหม่จะต้องศึกษาหาความรู้ในรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ เพราะรูปแบบการศึกษาแบบเดิมอาจจะเหมาะกับการสร้างทักษะในการทำซ้ำ แต่ไม่ได้มีทักษะของการทำใหม่ การเรียนรู้จึงต้องเปลี่ยนไปจากจาก “การฟังแล้วให้ทำตาม” มาเป็น “การคิดแล้วให้ทำเอง” จะดีกว่าไหม

 

คณิตศาสตร์จึงไม่ใช่การเรียนการนับ การบวกลบคูณหาร ท่องจำสูตรสมการ และวุ่นวายอยู่กับสัญลักษณ์ต่างพร้อมกับตัวแปรที่มักแทนด้วยอักษร X Y หรือ Z โดยที่ไม่รู้ว่าโจทย์ในโลกความเป็นจริง อะไรคือ X อะไรคือ Y และอะไรคือ Z แต่หากเรียนรู้การแก้ปัญหาโจทย์จากสภาพความเป็นจริง คู่ขนานไปกับการเรียนตามหลักสูตร และได้ลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาในลักษณะโครงงานจากความสนใจ (Project based learning) การศึกษาในแบบดังกล่าวจะสอดรับกับการทำงานจริงเมื่อเติบโตขึ้น

 

นั่นเพราะการทำงานในโรงงาน สถานประกอบการ หรือองค์กรต่างๆ โจทย์ของการแก้ปัญหา และคำถามที่ท้าทายความสามารถเกิดขึ้นทุกวัน การประยุกต์ความรู้จากหลักการต่างๆที่เรียนรู้มาจึงน่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องมากกว่า ถ้ารู้จักสังเกตเหตุการณ์รอบตัวและการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ และสตาร์ทอัพต่างๆจากช่องว่างช่องโหว่ทางธุรกิจและการตลาด เชื่อมโยงกับหลักคิดและวิธีปฏิบัติใหม่ๆ ก็จะสามารถคิดนวัตกรรมใหม่ๆได้ไม่ยาก ลองพิจารณาตัวอย่างหลักการและลองหาตัวอย่างมาประกอบ ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงได้ครบทุกคำถาม ก็จะกระจ่างแจ้งเองว่าทำไมคนอื่นคิดได้ แต่ทำไมเราคิดไม่ได้ ไม่ใช่อะไรแค่เราไม่เคยคิดหรือมองในแนวทางใหม่ๆต่างหาก

 

-       คิดต่อยอดจากความคิดหรือคำพูดของคนอื่น ตัวอย่างเช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ที่ให้ความสว่างแต่ดูแลรักษา จัดเก็บ หรือเคลื่อนย้ายได้ยาก ต้องระมัดระวังสูง เพราะหลอดผอมยาว แต่ปัจจุบันได้ลดขนาดเป็นหลอดตะเกียบหรือหลอดที่หมุนบริดเป็นเกลียว ทำให้สั้นจัดเก็บพกพาได้ง่าย และใช้งานได้อย่างสะดวก

-       คิดหาคำตอบเพราะไม่ยอมจำนนต่อคำถาม ตัวอย่างเช่น คำถาม ความต้องการ ข้อเสนอแนะ หรือแม้แต่ข้อร้องเรียนจากลูกค้าว่าจดหมาย พัสดุ หรือสิ่งของต่างๆที่จัดส่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ไปถึงไหน กี่วันถึง ผู้ผลิตส่งออกมาหรือยัง ลูกค้าได้รับเรียบร้อยหรือไม่ ทำให้เกิดระบบติดตามสินค้า (tracking system) การเข้ารหัสให้กับพัสดุที่จัดส่งเป็นตัวเลขหรือบาร์โค้ด เป็นต้น

-       คิดรัวๆจากการออนทัวร์ไปต่างประเทศ การได้ไปเปิดหูเปิดตา ไปชมนิทรรศการ ไปเข้าสัมมนา ไปท่องเที่ยวในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้เห็นว่าประเทศอื่นมีอะไรใหม่ที่เจริญก้าวหน้ากว่าเรา การนำสิ่งนั้นมาคิดต่อและใช้ให้เหมาะกับประเทศไทย ก็ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆได้ไม่ยาก

-       นั่งนิ่งๆเพื่อสยมสิ่งที่เคลื่อนไหว ทำให้เกิดความคิดใหม่ได้เช่นกัน การนั่งมองดูธรรมชาติ สภาพแวดล้อม สามารถนำมาซึ่งความคิดใหม่ที่แปลกแตกต่างไปจากเดิม ถ้าพูดถึงสนามกีฬารังนกที่ใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เชื่อว่าคนจำนวนมากรู้จัก

-       คิดแบบสวนทาง กลับด้านจากที่เคยเห็นหรือเคยทำ มีตัวอย่างสิ่งนี้มากมาย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การค้าขายและบริการต่างๆจึงอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าแบบที่เรียกว่าไม่ต้องขยับตัว หรือออกจากบ้านไปไหน สินค้าและบริการต่างๆพร้อมส่งไปให้ถึงบ้าน

-       คิดเชิงป้องกัน เพื่อที่ไม่ต้องมาแก้ไขปัญหาเดิมๆซ้ำๆ จะเห็นว่ามีสินค้ามากมายที่ไม่ต้องบำรุงรักษา ไม่ต้องหยอดน้ำมัน เพราะทำจากวัสดุชนิดใหม่ หรือไม่ต้องทำความสะอาด เพราะเคลือบด้วยวัสดุที่ทำความสะอาดตัวเอง (Self clearning)

 

มีแนวคิดอีกมากมายหลากหลาย เพียงแต่คิดและลงมือทำ ทำไม่ได้หรือทำได้แต่ยังไม่ได้ผลแบบที่ต้องการ ก็ทดลองด้วยวิธีการใหม่ แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ท้อหรือล้มเลิกไปก่อน จะได้คำตอบของคำถามที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน วัฒนธรรมการทำงานจึงต้องเลิกฟังจำและทำตาม แต่หันมาคิดแล้วลองหาวิธีการใหม่ๆ ความกล้าจึงนำพามาสู่การเปลี่ยนแปลง ออกจากมุมสบายกันเถอะ