นวัตกรรมไบโอดีเซลยกระดับเศรษฐกิจ สังคมไทย

นวัตกรรมไบโอดีเซลยกระดับเศรษฐกิจ สังคมไทย

นวัตกรรมไบโอดีเซลยกระดับเศรษฐกิจ สังคมไทย

ท่านผู้อ่านครับช่วงนี้ผลผลิตปาล์มออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมากราคาเริ่มตก การสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลอย่างกว้างขวางจะมีประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรของพวกเรา ภาครัฐขอการสนับสนุนจากบริษัทน้ำมันเพิ่มสัดส่วนไบดีเซลจากน้ำมันปาล์มที่เอาผสมในน้ำมันดีเซลเป็นร้อยละ7 หากช่วงไหนมีผลผลิตน้อยก็ปรับสัดส่วนลดลงตามสถานการณ์ไม่ให้กระทบต่อการบริโภค เพื่อประโยชน์สูงสุดในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

การปรับตัวของภาคเกษตรยุค4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล จะต้องนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มสำหรั ภาคอุตสาหกรรมที่เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนที่เห็นได้ชัดคือธุรกิจพลังงานประเภทเชื้อเพลิงชีวภาพที่เราคุ้นเคยกันก็ไบโอดีเซล (Biodiesel) หรือกรีนดีเซล (Green diesel) ไบโอดีเซลที่ว่านี้หลายท่านอาจไม่ทราบว่าแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไรซึ่งในปัจจุบันเราสามารถนำวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นครับ

ไบโอดีเซล (Biodiesel)เป็นพลังงานชีวภาพกลุ่มแรกและกลุ่มหลักที่นำมาใช้สำหรับทดแทนน้ำมันดีเซล สำหรับประเทศไทยในขณะนี้สามารถผลิตได้จากการนำน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันพืชใช้แล้วมาทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ โดยน้ำมันไบโอดีเซลมีข้อดี คือ เป็นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนและมีต้นทุนไม่สูงมากนัก มีคุณสมบัติที่ดีคือมีค่าซีเทน (Cetane Number) สูงกว่าเมื่อเทียบกับดีเซลที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ ช่วยให้เครื่องยนต์จุดระเบิดได้ดี รถยนต์สามารถเดินเครื่องได้ราบเรียบไม่สะดุด

อย่างไรก็ตาม ไบโอดีเซลมีสารประเภท Fatty Acid Methyl Ester หรือเรียกว่า FAME ซึ่งมีองค์ประกอบบางอย่างที่แตกต่างจากน้ำมันดีเซลที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ น้ำมันดีเซลที่ขายในประเทศไทยจึงควบคุมให้มีสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลที่อัตราไม่เกิน 7% (หรือที่เรียกทั่วไปว่า B7) เพื่อป้องกันไม่ให้องค์ประกอบที่เจือปนในไบโอดีเซลอาจจะส่งผลเกิดการอุดตันของหัวฉีดน้ำมันในรถยนต์นั่งบางประเภท

เชื้อเพลิงชีวภาพอีกกลุ่มที่ตอบโจทย์ดังกล่าวและเริ่มผลิตเพื่อใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ น้ำมันกรีนดีเซล (Green diesel) มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น น้ำมันดีเซลหมุนเวียน (Renewable diesel) หรือน้ำมัน BHD (Bio-hydrogenated diesel) น้ำมันกลุ่มนี้ผลิตได้จากการนำน้ำมันปาล์มไปทำปฏิกิริยากับก๊าซไฮโดรเจนเพื่อให้ได้น้ำมันที่โมเลกุลเสถียรกว่าและแยกสารที่ทำให้อุดตันในหัวฉีดน้ำมันเครื่องยนต์ออก มีข้อดีคือได้น้ำมันที่มีลักษณะเหมือนกับน้ำมันดีเซลมาก สามารถนำไปผสมในดีเซลเพื่อเติมรถยนต์ได้ในสัดส่วนที่สูงกว่าไบโอดีเซลประเภทแรกหรือใช้แทนน้ำมันดีเซลได้เลย แต่จะมีปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าไบโอดีเซลมาก และเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดีเซลแล้วราคาสูงกว่าประมาณเกือบ 4 เท่าทำให้แข่งขันด้านราคาเป็นไปได้ยาก

ดังนั้นเพื่อแก้ข้อจำกัดต่างๆ ของน้ำมันชีวภาพทั้งสองกลุ่ม จึงได้มีการพัฒนาหาทางออกใหม่ซึ่งมี 2 วิธี คือ การผลิต Refined-FAME และการผลิต H-FAME

สำหรับ Refined-FAME เป็นวิธีที่ไม่ซับซ้อน ทำโดยนำไบโอดีเซลประเภท FAME มากลั่นแยกสารเจือปนได้เป็นน้ำมันที่ยังคงมีค่าซีเทนสูง และความบริสุทธิ์มากขึ้น ลดการอุดตันของหัวฉีดน้ำมันได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนวิธีที่สอง คือ H-FAME (Partially Hydrogenated Diesel) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซลวิธีใหม่ โดยนำ FAME มาทำปฏิกิริยากับก๊าซไฮโดรเจนในปริมาณจำกัด แล้วจึงนำไปกลั่นแยกสารเจือปน ได้น้ำมันที่คุณสมบัติคล้าย Refined-FAME แต่ดีกว่าตรงที่ลดโอกาสในการที่น้ำมันจะเสื่อมสภาพและสะสมอยู่ในเครื่องยนต์ระยะยาว

ทั้งนี้วิธี Refined-FAME เป็นวิธีที่มีต้นทุนแข่งขันได้ และเริ่มมีการผลิตน้ำมันด้วยวิธีดังกล่าวขึ้นมาใช้ในบ้านเราแล้ว ส่วนวิธี H-FAME มีต้นทุนสูงกว่าเล็กน้อยและรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างส่งเสริมให้มีการพัฒนามาใช้ในบ้านเรามากขึ้น

ในเบื้องต้นคาดว่าวิธีเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซลดังกล่าวที่ว่ามาน่าจะช่วยให้เราสามารถเพิ่มสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มในน้ำมันดีเซลให้สูงขึ้นเป็นน้ำมัน B10 หรือ B20 ได้โดยเร็ว คนไทยก็จะได้มีโอกาสใช้น้ำมันที่มีคุณภาพดีที่เป็นพลังงานหมุนเวียน ลดพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิง ทำให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศ ช่วยลดการขาดดุลทางการค้า จะได้นำเงินมาพัฒนายกระดับภาคเกษตร กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ การพัฒนาที่สอดคล้องกับนวัตกรรม ผลการวิจัยพัฒนามาวางแผนกำหนดเป้าหมายให้เหมาะสมกับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไป คำนึงถึงความสมดุลในทุกๆด้านสอดคล้องกับหลักเศรษฐศาสตร์ สังคมยกระดับรายได้ของเกษตรกร และคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

ที่สำคัญประเทศไทยจะได้พ้นกับดักรายปานกลางที่ติดหล่มมานานับ10ปีแล้ว