เคยถามตัวเองไหมว่า ทำงานไปเพื่ออะไร?

เคยถามตัวเองไหมว่า ทำงานไปเพื่ออะไร?

Think Byte

เคยถามตัวเองบ้างไหมว่าทำงานไปเพื่ออะไร.. บางคนทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพให้มีชีวิตอยู่ บางคนทำงานหนักแทบตาย แต่สุดท้ายเป็นได้แค่มนุษย์เงินเดือน ขณะที่นักธุรกิจใหญ่ ลงทุนทำธุรกิจหลายอย่าง มีเงินเป็นร้อยล้าน พันล้านแต่ยังไม่พอ เพราะสุดท้ายแล้วเงินกลับไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

ผมเคยแนะนำเทคนิคการทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก และธุรกิจชุมชนอยู่รอดได้ หากทุกคนทำตามที่ผมบอกได้จนวันหนึ่ง เราสามารถอยู่รอดได้แล้ว มีเงินมีรายได้หล่อเลี้ยงบริษัทแล้ว เราควรทำอะไรต่อไป เพื่ออะไร ควรหยุดและพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี หรือขยายกิจการเติบโตต่อไป หรือเลือกแบ่งปันความรู้เทคนิคที่ทำให้ธุรกิจเราประสบความสำเร็จแก่คนที่ด้อยกว่า

ปัจจุบัน หลายธุรกิจเริ่มเล็งเห็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยพัฒนาสังคมและชุมชน ในการยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย รวมถึงลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่า นวัตกรรมสังคม (Social Innovation)

ผมเองทำเว็บไซต์ ThaiSecondhand.com และ TARAD.com มา 18 ปี ตั้งแต่ปี 2542 วันแรกๆ ที่เริ่มทำธุรกิจ เรามัวแต่มองดูตัวเราเอง มัวแต่ตั้งใจและโฟกัสกับการทำอย่างไร ถึงจะให้เราเติบโตไปข้างหน้า ไม่ให้เราเจ๊ง ผมจำได้เลยว่า วันแรกที่ผมเริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ ผมโฟกัสเรื่องการทำบริการของผมให้ดีที่สุด เทคโนโลยีต้องเยี่ยม ต้องเจ๋ง จนกระทั่งเมื่อผมได้พบกับ ป้าซิ้ม ที่ขายชุดลิเก ชุดแดนเซอร์ผ่านทางเว็บไซต์

วันนั้น (ปี 2552) ผมไปสอนที่มหาวิทยาลัยสุรนารี ไปสอนไกล ก็เลยคิดว่าอยากพบกับลูกค้าที่มาเปิดร้านค้ากับผมที่ต่างจังหวัด เลยเข้าไปค้นดูข้อมูลว่ามีร้านไหนบ้างอยู่ที่โคราช จนได้พบกับร้านของป้า และมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับป้าซิ้มและแฟนเขาว่า ทำไมถึงขายชุดลิเก และชุดแดนเซอร์ออนไลน์ ป้าซิ้มบอกว่า เมื่อก่อน (ราวปี 2550) แกจนมากวิ่งรับตัดชุดการแสดงอยู่กับแฟนในโคราช พักห้องเช่าเล็กๆ มีจักรเย็บผ้าอยู่ตัวเดียว อยู่มาวันหนึ่งแฟนแกลองเปิดเว็บไซต์และนำชุดลิเก ชุดแดนเซอร์ที่แกตัดอยู่ไปขายในเว็บไซต์

หลังจากนั้น พบว่า มีคนติดต่อเข้ามามาก และมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แกตกใจมากคือคนที่เข้ามาสั่งแกตัดชุด ไม่ใช่คนในจังหวัดโคราชเลย เป็นคนจากจังหวัดต่างๆ ทั่วไทย บางครั้งมีคนจากต่างประเทศ เช่น สวีเดน บาเรนห์ และเยอรมัน ก็สั่งชุดจากแกทำให้เพียงไม่ถึง 2 ปี ธุรกิจของป้าซิ้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จนทุกวันนี้ป้าซิ้มมีบ้าน รถยนต์ เป็นของตัวเอง มีจักรเย็บผ้าเป็นสิบตัว และมีพนักงานเป็นสิบคน งานเข้ามาเยอะๆ แกจะกระจายไปให้แม่บ้านละแวกเดียวกันเกิดการไหลเวียนของเงินเข้าไปสู่ชุมชนแถบนั้นเป็นจำนวนมาก

ทั้งหมดเกิดจากเว็บไซต์ที่แกสร้างขึ้นมาและเปิดโอกาสให้กับแกและสามี รวมถึงแม่บ้านในชุมชนละแวกนั้น

ป้าซิ้ม คือกรณีศึกษาที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมมาก ป้าซิ้มใช้อินเทอร์เน็ตสร้างธุรกิจของตัวเองให้เติบโต ยังเป็นการถ่ายทอดความรู้และวิชาชีพให้เพื่อนๆ กลุ่มแม่บ้านในชุมชนอีกต่อหนึ่ง แรงบันดาลใจนี้ผมไม่ได้เก็บไว้เองคนเดียว ผมแชร์และบอกต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับน้องๆ ในบริษัทเสมอว่า งานที่พวกเราทำในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเว็บไซต์ที่เราออกแบบ โปรแกรมที่เขียน เอกสารที่ฝ่ายบัญชีทำ หรืองานทุกงานที่ทุกคนในบริษัททำ มันต่อยอดให้ธุรกิจเล็กๆ ทั่วประเทศใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เพิ่มช่องทาง และเพิ่มโอกาสขายสินค้าไปยังคนทั่วประเทศและทั่วโลก สร้างรายได้จากการขายของออนไลน์ นำเงินที่ได้กลับสู่ชุมชน ไม่จำเป็นต้องส่งลูกหลานมาทำงานในเมืองหลวง

ผมเห็นถึงความเชื่อมโยงของงานที่พวกผมทำกันแต่ละวัน กับการสร้างชุมชน สังคม และประเทศ ทันทีที่ได้มีโอกาสพบกับป้าซิ้ม ฟังดูอาจเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ถ้ามองมุมกลับลงไปแล้ว สิ่งที่เราทำเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กให้มีโอกาส มีกำลัง และแข็งแกร่งมากขึ้น
เราทำงานไปเพื่ออะไร?

แนวคิดการดำเนินธุรกิจนี้ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนตัวผมและทีมงานในการทำงานในแต่ละวัน เราเริ่มรู้ว่าทุกวัน เราทำงานหนักไปเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อตัวเอง หรือบริษัทที่เติบโตขึ้น แต่งานที่เราทำมันกำลังทำให้สังคมนี้ ประเทศนี้เติบโตขึ้น เช่นเดียวกัน…. การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาธุรกิจทำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่เพียงอินเทอร์เน็ตในรูปแบบร้านค้าออนไลน์อย่างป้าซิ้มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการนำระบบการจัดการบัญชี บริหารสต็อกต่างๆ ที่ช่วยให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเทศไทยเรายังมีธุรกิจชุมชนเป็นจำนวนมาก จะมีสักกี่ธุรกิจที่สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้อย่างป้าซิ้ม

ผมเคยเขียนถึงสถิติการอยู่รอดของธุรกิจชุมชนและธุรกิจขนาดเล็กว่า มีเพียง 5% เท่านั้น อีก 95% ที่ต้องปิดตัวลง เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการดำเนินธุรกิจ เช่นบริษัทใหญ่ๆ หากธุรกิจชุมชนแต่ละแห่งเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง และใช้เทคโนโลยีช่วยจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ แต่จะดีกว่าไหมหากพวกเราร่วมด้วยช่วยกันแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ ทรัพยากรที่เรามีให้คนที่ด้อยกว่าเพื่อการเติบโตร่วมกันของระบบเศรษฐกิจของประเทศ