ลับแค่ไหน? ใครรับผิดชอบ วาระเสนอครม.

ลับแค่ไหน?  ใครรับผิดชอบ วาระเสนอครม.

อ้าวเฮ้ย...ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า ในที่สุดยุทธการณ์ซื้อเรือดำน้ำ 3.6 หมื่นล้านบาท

  จากประเทศจีนก็เกิดขึ้น เถียงกันเหลือเกินใช้งบหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ จะหน่วยงานไหนมันก็เงินภาษีประชาชนด้วยใช่หรือไม่? แล้วมันมีความจำเป็นเร่งด่วนเชียวหรือ ในภาวะที่เศรษฐกิจ และบ้านเมืองเป็นอย่างนี้

หลายคนคงสงสัยเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อย่างไร การเสนอเรื่องเขาทำอย่างไร ในหลักการเป็นแบบนี้ตามระเบียบการรักษาความลับของทางราชการกำหนดชั้นความลับของเอกสารราชการ 3 ระดับ นั่นหมายถึงระดับความยากง่ายในการเข้าถึงเอกสารไม่เท่ากัน ข้อสังเกตต้องดูที่สีมุมเอกสารเป็นหลัก

 ลับที่สุดหรือเอกสารมุมเหลือง ลับมากหรือเอกสารมุมแดง และลับหรือเอกสารมุมน้ำเงิน ในชั้นความลับผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงาน สามารถปรับเพิ่มหรือลดชั้นความลับได้ข้อกำหนดชั้นความลับมักใช้กับเอกสาร ที่เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่ มักมีใบปะหน้าระบุชั้นความลับหน้าแรก หน้าถัดไปจะเป็นเรื่องที่นำเสนอ

ว่ากันว่าในชั้นความลับถูกกำหนดสิทธิ์ระดับซีของข้าราชการที่จะเข้าไปดูได้ ที่สำคัญห้ามเปิดเผยและเผยแพร่ใครกระทำการตรงนี้ถือว่ามีความผิด

ปกติเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีเรียกว่าวาระอันประกอบด้วยวาระเพื่อทราบแบบนี้ไม่ต้องพิจารณายกเว้นมีรัฐมนตรีคนไหนถามขึ้นมา วาระพิจารณา”เป็นเรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเพื่อขออนุมัติ ถัดมาเป็นวาระจรวาระเจ้าปัญหาจะไม่มีการแจกเอกสารล่วงหน้าเด็ดขาด ส่วนใหญ่เจ้าของเรื่องมักหนีบเข้าที่ประชุมเอง เช่นเดียวกับซื้อเรือดำน้ำน่าจะอยู่ในสภาพวาระจรหรือไม่ 

สำคัญที่สุดทุกวาระ นายกรัฐมนตรีต้องรับรู้ รับทราบ เมื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี เพราะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องขอความเห็นชอบก่อนเสนอเป็นวาระ แม้จะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดูแลแทน แต่ถึงอย่างไรนายกรัฐมนตรีก็รับผิดชอบโดยตรงในฐานะผู้มอบอำนาจ ปกติเรื่องความมั่นคง นายกรัฐมนตรีมักจะไม่ค่อยมอบหมายใคร 

ชัดเจนเมื่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่าเป็นเรื่องเก่าที่กองทัพเรือเป็นผู้ริเริ่ม เขาไม่ใช่ผู้เริ่ม ถ้าบอกว่าเขาเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดเรื่องนี้ ก็ต้องบอกว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้สนับสนุนเหมือนกัน คณะรัฐมนตรีทุกคนก็สนับสนุนทั้งหมด