ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ยุค4.0: บทเรียนจากประเทศสิงคโปร์

ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ยุค4.0: บทเรียนจากประเทศสิงคโปร์

ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ยุค 4.0: บทเรียนจากประเทศสิงคโปร์

ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่สำคัญทางเศรษฐกิจของไทย ได้มีการผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจมูลค่าหรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยนโยบายหลักประกอบด้วยการปรับการผลิตสินค้าจากสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินค้านวัตกรรม การปรับลดอัตราส่วนของรายได้จากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการ และการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยเครื่องมือหลักคือ “ประชารัฐ” ซึ่งผู้มีส่วนร่วมหลักได้แก่ ภาคเอกชน ภาคการเงิน ธนาคาร มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ

การผลักดันนโยบายดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจไทยที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง และการที่เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ “ยุคอุตสาหกรรม 4.0” หรือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หมายรวมถึง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างก้าวกระโดดและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รูปแบบการทำงาน ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนความสัมพันธ์ของคนในสังคมอย่างมีนัยสำคัญ โดยอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ได้จำกัดอยู่เพียง การค้าออนไลน์ ระบบ Sharing Economy การผลิตแบบ automation หรือ Fintech เพียงเท่านั้น แต่ก้าวไปถึงการหลอมรวมระหว่าง cyber physical platform ในด้านการบริโภค การผลิต ผ่าน internet of things ทั้งในระดับค้าปลีก ค้าส่ง ไปจนตลอดห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมทั้งหมด

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามหากภาคอุตสาหกรรม ประเทศ และที่สำคัญคนไทย ไม่ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างทั่วถึง ย่อมส่งผลให้ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างจำกัด และช่องว่างระหว่างรายได้ของคนที่เข้าถึงประโยชน์ และคนที่เข้าไม่ถึงย่อมห่างออกไปได้เรื่อยๆและส่งผลสะท้อนต่อปัญหาการกระจายรายได้ของไทยรุนแรงขึ้น

การปรับตัวของประเทศให้เข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ มิใช่เรื่องที่แปลกใหม่สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของประเทศสิงคโปร์ ที่ก้าวข้ามออกจากประเทศที่ผลิตสินค้าโดยใช้แรงงานราคาถูก อาทิเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้นได้ในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี นับจากแยกตัวออกจากประเทศมาเลเซียเป็นต้นมา

รัฐบาลสิงคโปร์มุ่งเน้นการ “พัฒนาคน” และ “การแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนาประเทศอย่างทั่วถึง” โดยเฉพาะด้านการศึกษา ที่อยู่อาศัย และการคมนาคมขนส่ง และที่สำคัญการพยายามรักษาระดับความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ ให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไปนัก ดังจะเห็นได้จากการที่ค่าดัชนีชี้วัดความไม่เท่าเทียมทางด้านรายได้ (Gini coefficient) ของสิงคโปร์นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมามีค่าต่ำกว่า 0.4 มาจนกระทั่งปี 2001

ในขณะที่ประเทศไทยใช้เวลามากกว่า 30 ปีนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่การผลิตที่ใช้ทุนเข้มข้น และที่สำคัญค่าดัชนีชี้วัดความไม่เท่าเทียมทางด้านรายได้ (Gini coefficient) ไม่เคยลดต่ำลงกว่า 0.4 ในช่วงเวลาเดียวกันกับสิงคโปร์เลย นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยได้ขยับขึ้นจากอันดับ 11 เป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกรองจากรัสเซียและอินเดีย ในขณะเดียวกันคนไทยเพียงร้อยละ 10 กลับถือครองโฉนดที่ดินมากถึงร้อยละ 60 ของประเทศ ส่วนคนมีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยต่างจากคนรายได้สูง ถึง 19 เท่า

ภายใต้ภาวะความไม่เท่าเทียมดังกล่าว “การพัฒนาคน” เพื่อให้ปรับตัวเข้าสู่ยุค 4.0 แทบจะเป็นไปไม่ได้ จึงคงไม่ต้องกล่าวถึง “การกระจายโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนโยบายประเทศไทย 4.0 ให้กับคนส่วนใหญ่ในประเทศ” เพราะ “ทุนชีวิต” ที่จะช่วยให้คนไทยพัฒนาศักยภาพของตนให้สอดรับกับการปรับตัวเข้าสู่ยุค 4.0 นั้นไม่เท่ากัน

ประเทศสิงคโปร์เองก็เผชิญกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน ภายใต้การพัฒนาที่มุ่งเน้นด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการสร้าง “ผลิตภาพ” อย่างเข้มข้นนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้คนสิงคโปร์ที่ไม่สามารถพัฒนาได้ทันกับยุคอุตสาหกรรม 4.0 ตกอยู่ในสภาวะ “ล้มละลายด้านการทำงาน” (obsolete) และทำให้คนสิงคโปร์ที่มีรายได้น้อยหรือไม่เพียงพอ ไม่สามารถเกษียณหรือเรียนรู้ทักษะใหม่ได้ และต้องทำงานไปเรื่อยๆ แม้จะต้องเปลี่ยนไปทำงานที่มีทักษะต่ำก็ตาม

รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว โดยรัฐบาลปัจจุบันได้มีนโยบายด้านการคลัง (Income transfer) ที่จะส่งผลให้คนจนหรือครอบครัวที่มีฐานะยากจน มีรายได้มากขึ้นและเพียงพอ และเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาศักยภาพของตนและครอบครัวให้มีผลิตภาพที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ในรายงานประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ของ Committee on the Future Economy ได้กล่าวถึงการปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมอนาคตโดยให้การพัฒนาคนยังคงเป็นเป้าหมายหลัก แต่กล่าวถึงการเตรียมการที่จะให้คนสิงคโปร์ได้รับการฝึกหัดและใช้ทักษะเชิงลึก (Deep Skills) ผ่านการศึกษาและอบรมในรูปแบบของ Modularized and technology enabled training programs ที่ให้โอกาสทั้งคนหนุ่ม คนสาว และคนชราในการเรียนรู้ทักษะใหม่ที่ต้องการ รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีความเชื่อมโยงระหว่างการได้รับและการใช้ทักษะดังกล่าวผ่านความร่วมมือระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

ดังนั้น การปรับตัวของประเทศไทยเข้าสู่ “ยุคอุตสาหกรรม4.0” จึงไม่ได้มีแค่มิติของการพัฒนาคน แต่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น การที่ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนย่อมหมายรวมถึงรัฐและประชารัฐที่พร้อมจะแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนาให้กับคนไทยเป็นสำคัญ

................................................................

ดร.มณเฑียร สติมานนท์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยฝ่าย1 สกว.