ว่าด้วยเรื่องเงินลงทุนในตราสารหนี้ของไทยพีบีเอส (จบ)

ว่าด้วยเรื่องเงินลงทุนในตราสารหนี้ของไทยพีบีเอส (จบ)

ช่วงนี้มีการประชุมสามัญประจำปี ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ได้มีโอกาสอ่านเอกสารรายงานประจำปี

ของบริษัทต่างๆที่ส่งมาให้ ก่อนเข้าประชุมตามวันเวลาที่กำหนด

เรื่องหนึ่งที่อยู่ในความสนใจเป็นพิเศษคือ เรื่องของการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน ที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีการลงทุนเป็นปกติของธุรกิจ

พบว่าทั้งตราสารหนี้และตราสารทุนมีทั้งหลักทรัพย์ ที่เป็นความต้องการของตลาดและไม่เป็นความต้องการของตลาด มีรายละเอียดที่น่าสนใจอาทิ ถ้าเป็นหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดซึ่งถือไว้เพื่อค้า จะถูกจัดให้เป็นสินทรัพย์หมุนเวียน และแสดงด้วยมูลค่ายุติธรรม ผลกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์จะถูกบันทึกในกำไรหรือขาดทุน

ตราสารหนี้ซึ่งกลุ่มบริษัทตั้งใจและสามารถถือจนครบกำหนด จัดเป็นประเภทเงินลงทุนที่จะถือจนครบกำหนด แสดงราคาทุนตัดจำหน่ายหักด้วยผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสม ผลต่างระหว่างราคาทุนที่ซื้อมากับมูลค่าไถ่ถอนของตราสารหนี้จะถูกตัดจ่ายโดยวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุที่เหลือของตราสารหนี้ เมื่อมีการจำหน่ายเงินลงทุน ผลต่างระหว่างสิ่งตอบแทนสุทธิที่ได้รับและมูลค่าทางบัญชี รวมถึงผลกำไรขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องที่เคยบันทึกในส่วนของผู้ถือหุ้นจะถูกบันทึกในกำไรขาดทุน

พิจารณาจากข้างต้น ทำให้น่าสนใจว่าโอกาสที่ไทยพีบีเอส จะเสียหายจากการลงทุนในตราสารหนี้นั้นมีไม่น้อย (โดยสมมุติว่าเป็นหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด เพราะถ้าไม่เป็นความต้องการของตลาด คงขายออกให้ใครไม่ได้ ต้องถือไว้จนกว่าจะครบกำหนดตามเงื่อนไข)

เพราะถ้าหากถือตราสารหนี้ไว้จนครบกำหนด แม้จะได้ดอกเบี้ยในระหว่างอายุตราสารหนี้ แต่เมื่อครบกำหนด มูลค่าไถ่ถอนอาจลดลงมากเพราะจะมีการด้อยค่าสะสมทุกปี จนอาจไม่เหลือมูลค่าไถ่ถอนที่คุ้มราคาทุน และถ้าขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน ดังที่คณะกรรมการไทยพีบีเอสเคยแสดงเจตนาว่าอาจขายออกได้ ก็หมายความว่าราคาขายอาจจะต่ำกว่าราคาทุน และไทยพีบีเอส ก็จะอยู่ในสภาวะขาดทุนเช่นกัน

ในปัจจุบัน มีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและดอกเบี้ยตราสารหนี้จะอยู่ในสภาวะขาลง นั่นหมายความว่าถ้าหากมีการขายออกตราสารหนี้ของไทยพีบีเอสช่วงระยะเวลานี้ และอาจจะต่อเนื่องไปอีกสองสามปี ราคาขายจะต่ำกว่าราคาทุนที่ซื้อมามากขึ้นเรื่อยๆ

นั่งดูอัตราผลตอบแทนของบริษัทต่างๆที่ออกตราสารหนี้ เสนออัตราผลตอบแทนที่ลดลงมาเรื่อยๆ จาก 4-5% ในสี่ห้าปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเหลือประมาณ 3% ถ้าขายตราสารหนี้ของไทยพีบีเอส ตอนนี้ก็ขาดทุนแน่นอน แม้ว่าจะถูกจัดอันดับเป็นระดับ A ตอนซื้อ ก็ไม่ได้รับประกันว่าตอนขายจะเป็นอย่างไร

ถ้าถามต่อไปว่า แล้วไทยพีบีเอส เสียหายอย่างไร ก็ตอบว่าการขาดทุนนี้จะถูกบันทึกไว้ในกำไรขาดทุนของไทยพีบีเอส และจะกลายเป็นหลักฐานที่มัดผู้บริหารและคณะกรรมการที่ดำเนินการเข้าซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้ ว่าทำให้ขาดทุนในระดับไหน และทั้งอดีตผู้บริหารที่ลาออกไปและคณะกรรมการที่ละเว้นการสั่งการก็ต้องถือว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่จะต้องรับผิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าขาดทุนสักสิบเปอร์เซ็นต์ จากราคาซื้อ 200 ล้านบาท ก็คงประมาณ 20 ล้านบาท ที่ทั้งอดีตผู้บริหารและคณะกรรมการ จะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อองค์กรไทยพีบีเอส ในฐานที่ทำให้องค์กรรัฐเสียหาย

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินไม่เอาเรื่องไม่ได้ มิฉะนั้นอาจมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่