Cumulative Voting : พลังโหวตของผู้ถือหุ้นรายบุคคล

Cumulative Voting : พลังโหวตของผู้ถือหุ้นรายบุคคล

เป็นที่รู้กันว่า หนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น คือ วาระการเลือกตั้งกรรมการ

 ซึ่งเป็นหนึ่งในสามพลังของบริษัทจดทะเบียน ( ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ,กรรมการ และผู้บริหาร)

การเลือกตั้งกรรมการของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนใหญ่มักเป็นการลงมติลงคะแนนแบบ 1 หุ้น เท่ากับ 1 เสียง มีร้อยหุ้นก็ลงคะแนนได้ร้อยคะแนน มีล้านหุ้นก็ได้หนึ่งล้านคะแนน หรือ เรียกว่า One Share One Vote

แต่พบว่า ...มหาชนจำกัด พศ.2535 มาตรา 70 ระบุข้อความ ไว้ว่า ”เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับกำหนดเป็นอย่างอื่น กรรมการนั้น ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้ ( 1 ) ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนถือคูณด้วยจำนวนกรรมการที่จะเลือกตั้ง ( 2 )……(3)….. “

“มาตรา 71 ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีทุกครั้ง ให้เลือกตั้งคณะกรรมการทั้งชุด พร้อมกันในคราวเดียวแต่ให้คณะกรรมการชุดเดิมรักษาการในตำแหน่งเพื่อดำเนินกิจการของบริษัทต่อไปพลางก่อน เท่าที่จำเป็น จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่…"

ลักษณะนี้ เรียกว่า การเลือกตั้งกรรมการแบบ Cumulative Voting อาจเป็นเรื่องแปลก เรื่องใหม่สำหรับตลาดหุ้น สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จึงสำรวจว่า มีบริษัทจดทะเบียนใดบ้างที่มีการเลือกตั้งกรรมการของบริษัทด้วยวิธีการนี้ และมีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร

พบว่า ปัจจุบัน มีบริษัทจดทะเบียนเพียง 3 แห่ง ที่มีการเลือกตั้งแบบ Cumulative Voting คือ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป-TISCO,บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี-TCCC และ บมจ.อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม-UPOIC

หลักการ เบื้องต้น ของการเลือกตั้งแบบนี้ คือ การนำจำนวนหุ้น ที่ถืออยู่นั้น คูณ ด้วยจำนวนกรรมการที่มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น ถือหุ้น 1,000 หุ้น มีกรรมการที่เลือกลงคะแนนได้ จำนวน 12 คน ดังนั้น คะแนนในมือ ของผู้ถือหุ้น คนนี้ มี 1,000 * 12 = 12,000 คะแนน (เห็นความแตกต่าง ว่าหากเป็นการเลือกแบบ One Share One Vote เขาจะมีเสียง 1,000 คะแนน)

จากนั้น จะแบ่งคะแนนไปให้ใครบ้าง ก็สามารถพิจารณา ได้เอง ตามที่เห็นสมควร หรือจะเทคะแนนให้คนใด คนหนึ่งก็ได้เช่นกัน

 “ ผมคิดว่าเป็นข้อดี สำหรับผู้ถือหุ้นรายบุคคล ที่จะมีใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการ กับคนที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสม ช่วยเปิดโอกาสสร้างความสมดุลของทุกคะแนนเสียง แต่มีข้อเสียอยู่บ้าง ตรงที่ต้องให้ความรู้กับผู้ถือหุ้น ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจกับเรื่องสิทธิแบบนี้ และมีข้อยุ่งยากในการนับวาระของกรรมการ อยู่บ้างครับ” คุณไพรัช ศรีวิไลฤทธิ์ เลขานุการบริษัท ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ และเล่าว่า TISCO ใช้วิธีการนี้มานานมากแล้ว ไม่เคยผิดโผ จากที่นำเสนอรายชื่อกรรมการในแต่ละครั้ง รวมทั้งมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสม เข้ามาให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาด้วย แต่ไม่เคยมีผู้ถือหุ้นเสนอเข้ามาเลย

“ สำหรับบริษัทผม มีผู้ถือหุ้นรายบุคคล เคยนำเสนอชื่อกรรมการอิสระ เมื่อคณะกรรมการสรรหาพิจารณา เห็นว่าเหมาะสมก็เสนอชื่อสู่การเลือกตั้ง เราใช้การลงคะแนนแบบ Cumulative Voting ตามข้อบังคับของบริษัท ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาแล้ว มีข้อควรระวัง คือ การต้องทำความเข้าใจ ต้องอธิบายวิธีลงคะแนนให้กับผู้ถือหุ้นเข้าใจ และต้องมีโปรแกรมรองรับ รวมทั้งการต้องใช้เวลาการประชุมนานกว่า 3-4 ชั่วโมง เพราะผู้บริหารเป็นชาวญี่ปุ่น ที่ต้องมีการแปลเป็นภาษาไทย ในเวลาเดียวกัน” คุณพชระ วรรธนวินิจ เลขานุการบริษัท TCCC เล่าข้อมูล ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันกับ TISCO

“ การลงมติ แบบนี้ เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท เราทำมานานแล้ว จึงไม่มีข้อยุ่งยากในเรื่องใด ผู้บริหารเข้าใจ คนทำงานเข้าใจ แต่ต้องมีการอธิบายในวาระนี้ ให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจ ในทุกครั้งของการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น จนชินแล้วคะ “ คุณจิรสุดา สำเภาทอง เลขานุการบริษัท UPOIC ให้ข้อมูล ตามที่มีประสบการณ์มาหลายปี

จึงพบว่า การลงมติเลือกตั้งกรรมการบริษัทจดทะเบียน แบบ Cumulative Voting นี้ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ในตลาดหุ้นของเมืองไทย บริษัทที่เลือกใช้วิธี อาจมีคุณสมบัติ ที่เป็นความเหมาะสม เช่น การมีจำนวนผู้ถือหุ้นไม่มากนัก คือ ราว 10,000 /2,400 / 1,800 ราย ของ TISCO,TCCC และ UPOIC ตามลำดับ จึงไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่มากกับการอธิบายให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจ เพราะตามที่ทราบกันว่า การประชุมผู้ถือหุ้น ในแต่ละปีนั้น มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม ราว ร้อยละ 5 ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด เท่านั้น

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ยังกุมเสียงโหวตข้างมากไว้ได้ คือ มากกว่าร้อยละ 70 จึงยังวางใจกับคะแนนเสียง ในการเลือกตั้งกรรมการที่ถูกเสนอชื่อ

แต่สำหรับบางบริษัทจดทะเบียนที่มีผู้ถือหุ้นหลักหมื่น หรือหลักแสน หรือหุ้นที่แตกกระจายไม่มีเสียงข้างมาก ที่อาจเพิ่มความยุ่งยาก ในการอธิบาย การนับคะแนนที่ต้องใช้เวลามาก และอาจถูกตีรวนในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นได้

จากเจตนารมย์ ที่จะเพิ่มพลังให้ผู้ถือหุ้นรายบุคคล ในการลงมติเลือกกรรมการแบบ Cumulative Voting จึงยังต้องรอเวลา

การแก้ไข พรบ.มหาชน มาตรา 100 ด้วยคำสั่ง ม.44 ตามนโยบายการเอื้ออำนวยให้การทำธุรกิจในประเทศไทยไม่ยุ่งยาก-Easy to do Business เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ทีผ่านมานั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งหรือหลายคน ซึ่งมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด เข้าชื่อกันให้คณะกรรมการเรียกประชุมได้ ภายใน 45 วัน จากเดิม ที่ต้องกำหนดจำนวนผู้ถือหุ้นไว้จำนวน 25 คน น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้อีกทางหนึ่ง

และต้องไม่ลืม อีกข้อว่า ผู้ถือหุ้น “พึงรู้สิทธิ” แต่ต้องไม่ลืม “หน้าที่” ของการเป็นผู้ถือหุ้นที่ดี เพราะผู้ถือหุ้น หรือผู้ลงทุน คือ เจ้าของกิจการ ย่อมร้อน-หนาว ตามอุณหภูมิขององค์กรด้วยเช่นกัน