ลดงบดุลเฟดดีไหม? : ซิมส์ vs. เบน

ลดงบดุลเฟดดีไหม? : ซิมส์ vs. เบน

ปี 2017 ถ้าจะพูดถึงประเด็นที่อินเทรนด์ เกี่ยวกับธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด

 เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องการลดขนาดงบดุลของเฟด ว่าสมควรจะลดหรือไม่ในตอนนี้ ถ้าสมควร จะลดแบบรวดเร็วหรือค่อยๆลดดีกว่ากัน ในยุคนี้ คงจะไม่มีใครเหมาะสมในการตอบคำถามดีมากไปกว่า 2 เจ้าพ่อ Macro แห่งยุค ที่มาจากสายบุ๋นและบู๊ นั่นคือ คริสโตเฟอร์ ซิมส์ และ เบน เบอร์นันเก้ ตามลำดับ โดยที่สองคนสองคมนี้ มีมุมมองต่อการลดขนาดงบดุลเฟดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนี้

ขอเริ่มจากฝ่ายบุ๋นก่อน นายคริส ซิมส์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจอมเทคนิค เขามองว่างบดุลของธนาคารกลางของทุกประเทศยกเว้นธนาคารกลางอังกฤษ มีขนาดใหญ่เกินไปในแง่ที่เมื่อหากอัตราดอกเบี้ยเกิดมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว จะทำให้ขนาดของสินทรัพย์ของธนาคารกลางเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่าขนาดของหนี้สินของธนาคารกลางแบบมีนัยยะสำคัญ 

ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของทุนสามารถมีค่าติดลบได้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นและระยะเวลาของตราสารทางการเงินในฝั่งสินทรัพย์ยาวนานกว่าของทางฝั่งหนี้สิน ซึ่งตรงนี้ หากไม่ใช่ธนาคารกลางแล้วคงจะหนีไม่ออกต้องมีการเพิ่มทุนให้ส่วนของทุนกลับมามีค่าเป็นบวก ทว่าสำหรับธนาคารกลางแล้วนั้น มิได้เป็นเช่นนั้น ธนาคารกลางสามารถแก้ไขปัญหาส่วนของทุนที่ติดลบ ด้วยการพิมพ์เงินเพื่อซื้อตราสารพันธบัตรรัฐบาลที่มีดอกเบี้ย เพื่อให้ขนาดของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากกว่าขนาดของหนี้สิน จากผลตอบแทนของตราสารการเงินดังกล่าว หรือที่เรียกกันว่าSeigniorage อย่างไรก็ดี รายได้ส่วนเพิ่มเติมดังกล่าว ก็มาพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากเงินตราที่ออกจากธนาคารกลางไปสู่ระบบเศรษฐกิจทำให้ราคาสินค้าและบริการโดยรวมสูงขึ้นมาด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว การที่ขนาดงบดุลของธนาคากลางมีขนาดที่ใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ มีข้อเสียตรงที่ในช่วงที่เศรษฐกิจมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงพร้อมๆกับที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ก็จะทำให้ธนาคารกลางมีเงินทุนเหลือไม่มากพอที่จะเป็นตัวช่วยสุดท้ายของสถาบันการเงินได้ดีพอ หรือหากแย่ไปกว่านั้น อาจต้องหาเงินทุนเพิ่มเติมมาเสริมสร้างความแข็งแรงของตนเองอีกต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ เซียนซิมส์ จึงมองว่าในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีดอกเบี้นไม่สูงนักและมีอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่สูง ควรรีบที่จะลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางโดยด่วน จะได้ไม่เสี่ยงต่อความไม่แน่นอนของขนาดสินทรัพย์และหนี้สินในอนาคต

หันมาทางฝั่งสายบู๋กันบ้าง นายเบน เบอร์นันเก้ เขากล่าวแบบมั่นใจมากว่าการคงขนาดงบดุลของเฟดไว้ใหญ่หน่อย มีข้อดีคือจะแก้ปัญหาที่เรียกว่า Stigma หรือถ้าแปลเป็นไทยแบบละครน้ำเน่าหน่อยคือ ตราบาป’ เหตุผลคือ เมื่อสถาบันการเงินเกิดปัญหาขึ้นมา หากเกิดคิดที่จะยืมเงินด้วยการขอความช่วยเหลือจากธนาคารกลาง แล้วบังเอิญขนาดของงบดุลของธนาคารกลางนั้นไม่ใหญ่มาก หากมีสถาบันการเงินใดก็ตามขอความช่วยเหลือธนาคารกลางดังกล่าว ก็จะทำให้ขนาดงบดุลของธนาคารกลางนั้นลดลงแบบมีนัยยะสำคัญ ทีนี้บรรดานักวิเคราะห์ก็จะไปส่องว่าสถาบันการเงินไหนที่มีงบดุลเพิ่มขึ้นมาเยอะแบบผิดปกติ ซึ่งหาได้ไม่ยากนัก แล้วเมื่อสามารถพบว่าไปโผล่ที่แบงก์ไหน คราวนี้ แบงก์นั้นก็ถือว่างานเข้า เพราะจะถูกตั้งสมมติฐานว่าต้องมีอะไรบางอย่างในกอไผ่ จึงไปพึ่งใบบุญธนาคารกลาง สิ่งที่ตามมา คือ การถอนเงิน ราคาหุ้นตก อันดับเครดิตลดลง รวมถึงเรื่องที่จะตามมาอีกสารพัด

ผลลัพธ์ก็คือ ไม่มีแบงก์ไหนกล้าเข้าไปขอความช่วยเหลือธนาคารกลางแม้จะอยากทำ เพราะกลัวตราบาปนี้ จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

เรื่องนี้ยังไม่จบครับมีต่อภาคสอง แต่ขอตบท้ายว่าหากมองในแง่ของความเหมาะสมของขนาดงบดุลของธนาคารกลางอย่างเฟด ผมคิดว่าขนาดตอนปี 2008 ถือว่าเล็กเกินไป อันนี้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ถ้าจะประเมินว่าขนาดแค่ไหนถึงเหมาะสม ตรงนี้ เป็นคำถามที่มีคนถามนายเบอร์นันเก้เหมือนกัน นาเบอร์นันเก้ตอบว่าอย่าไปลดขนาดจากตอนนี้ให้เยอะมากเลย ในเรื่องนี้ ใหญ่ดีกว่าเล็ก’ ครับ