ค่าสมาชิก 100 บาท ปัญหาชาวบ้านหรือ พรรคการเมือง

ค่าสมาชิก 100 บาท ปัญหาชาวบ้านหรือ พรรคการเมือง

กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันยกใหญ่ หลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

 กำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ต้องจ่ายเงินบำรุงพรรคต้นสังกัดตามแนวทางที่กรธ.เสนอ กับค่าสมาชิกพรรคคนละ 100 บาทต่อปี แต่วันนี้ดูเหมือนพรรคการเมืองไม่ค่อยจะเห็นด้วยสักเท่าไหร่

 ฟากการเมืองมีท่าทีเห็นอกเห็นใจชาวบ้านมาก มองว่าการจ่ายเงินค่าสมาชิก 100 บาทต่อปี อาจจะไปสร้างความเดือดร้อน กลัวชาวบ้านไม่มีเงิน จริงๆ เงิน 100 บาท สำหรับคนที่เขาไม่มีเลยก็ถือ เป็นเรื่องใหญ่ แต่สำหรับคนที่พอจะมีกินอาจไม่ค่อยเดือดร้อนสักเท่าไหร่ ฉะนั้นตรงนี้อาจต้องมองว่าเท่าไหร่ถึงเหมาะสม ที่สำคัญ ต้องถามชาวบ้าน เขายินดีไหมในฐานะเจ้าของเงิน 

 อดสงสัยไม่ได้ จะทำอย่างไรหากทว่ามีการ จ่ายแทน เพียงแค่หารายชื่อมาเซ็นกำกับรับทราบ ตรงนี้จะควบคุมกันอย่างไร เพราะเงินสมาชิก 100 บาท หากเป็นพรรคการเมืองใหญ่ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้ดูถูกพรรคการเมืองหรือประชาชน แต่มองว่าโอกาสที่จะเกิดมันเป็นไปได้สูง 

 แต่ที่พรรคการเมืองไม่ค่อยจะเห็นด้วย อาจกลัวความยุ่งยากอะไรหรือเปล่า 

 แม้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มองว่าจะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง ถ้าใครไปจ้างให้มาเป็นสมาชิกพรรคก็จะมีความผิด  พรรคการเมืองก็ต้องการสมาชิกที่สุจริต บริสุทธิ์ใจ เข้ามามีส่วนร่วม ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน การตั้งพรรคการเมืองมันต้องให้ยากกว่าการตั้งสมาคมหรือสหกรณ์ทั่วๆไป 

 การที่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม และต้องการสกัดทุนครอบงำพรรคการเมือง ถือเป็นเรื่องที่ดีถ้าทำได้ แต่สิ่งเหล่านี้มันอาจจะเป็นแค่หลักการ วิธีปฏิบัติจะทำได้จริงหรือ

 ไม่ค่อยจะมั่นใจสักเท่าไหร่ ว่ากฎหมายจะสกัดทุนครอบงำพรรคการเมืองได้แค่ไหน ตราบใดที่การเมืองไทยยังต้องใช้เงินเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้ง มันจะทำได้จริงหรือ

  วันนี้ต้องหาจุดสมดุลเรื่องนี้ให้จบ อย่าเพียงแค่หยิบยกชาวบ้านมาเป็น ตัวประกัน” ที่สำคัญทำอย่างไร ไม่ให้เกิดการจ้างใครเข้ามาเป็นสมาชิก มีหลักควบคุมตรวจสอบกันอย่างไร