อนุรักษ์อาหารไทย... บทบาทที่คนไทยต้องมีส่วนร่วม

อนุรักษ์อาหารไทย... บทบาทที่คนไทยต้องมีส่วนร่วม

“อาหารไทย” เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เป็นอาหารที่ได้รับการยกย่องว่าอร่อยที่สุด เป็นอาหารที่ได้ชื่อว่าดีต่อสุขภาพ

 เพราะอุดมไปด้วยสมุนไพรอันเป็นประโยชน์ คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่าอาหารไทยคือมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ เป็นสิ่งล้ำค่าที่ลูกหลานไทยพึงรักษาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน การพัฒนาปรับปรุงสูตรและรสชาติอาหารไทย ให้ดีขึ้นและอร่อยขึ้นตามยุคสมัยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ไม่ควรให้กลายพันธุ์กระทั่งหาความเป็นอาหารไทยไม่เจอ และที่สำคัญเมื่อเรามีสูตรอาหารไทยที่ดีที่ล้ำค่าแล้ว ก็ไม่ควรให้สูญสลายไปกับอายุขัยของคนรุ่นปู่รุ่นย่า

ใครกันที่มีบทบาทในการการอนุรักษ์ไว้ซึ่ง “อาหารไทย” สิ่งล้ำค่าของชาติเรา....สำนักเอกลักษณ์ของชาติ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี?กระทรวงวัฒนธรรม?สถาบันอาหาร?สถาบันการศึกษา? บริษัทอาหาร? ร้านขายอาหารไทย? หรือ คนไทยทุกคน? ...

ในอดีตอาจไม่มีใครอยากให้ลูกหลานเป็นแม่ครัว ตำราทำอาหารไทยหลายๆเล่ม ก็มีฝรั่งต่างชาติเป็นคนเขียน แต่ทุกวันนี้น่าดีใจที่เยาวชนหลายคนอยากเป็นเชฟ มีความสุขกับการปรุงอาหารให้ผู้คนได้รับประทาน ขณะเดียวกันก็มีการเปิดหลักสูตรสอนทำอาหารไทยมากมาย มีหลายสถาบันที่ผลิตนักปรุงอาหารไทยออกสู่ตลาด มีเชนร้านอาหารไทยที่ไปเปิดตัวในต่างประเทศ และหลายๆบ้านที่ชอบทำอาหารต่างก็มีสูตรเด็ดของตัวเองที่ทยอยถ่ายทอดให้ลูกหลาน เหล่านี้ล้วนเป็นบทบาทที่มีส่วนสำคัญในการร่วมรักษาอาหารไทยให้คงอยู่ทั้งสิ้น

ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งของการสร้างกระแสอนุรักษ์อาหารไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดประกวดแข่งขันทำอาหารไทย ล่าสุด บริษัทใหญ่อย่างซีพีเอฟ จัดรายการ“CPสุดยอดแชมป์แกงไทย” ส่งเสริมให้คนไทยคิดถึงอาหารไทยประเภทแกงไทยมากยิ่งขึ้น โดยตั้งโจทย์หาแชมป์แกงไทยใน 5 เมนู คือ แกงเขียวหวานไก่ แกงกะหรี่ไก่ มัสมั่นหมู พะแนงหมู และฉู่ฉี่ปลาทับทิม ทั้งยังตั้งรางวัลให้แชมป์ใช้เป็นทุนประกอบอาชีพสูงถึงเมนูละ 1 ล้านบาท ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยดึงความสนใจและสร้างกระแสรักษ์อาหารไทยให้เกิดขึ้นได้ไม่น้อย ที่สำคัญยังแบ่งปันสูตรเด็ดของแชมป์ให้คนไทยนำไปใช้อย่างเปิดเผย เพราะต้องการสืบสานอาหารไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

.เย็นใจ ฐิตะฐาน อาจารย์ฝ่ายโภชนาการและสุขภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าเป็นสิ่งที่ดีมากเมื่อภาคเอกชนซึ่งมีความคล่องตัวสูงเข้ามากระตุ้นส่งเสริมให้คนไทยคิดถึงแกงไทยและมีกิจกรรมให้เกิดการอนุรักษ์ ตลอดจนเปิดเผยสูตรให้คนทั่วไปนำไปใช้ได้ด้วย ซึ่งนับเป็นความใจกว้างอย่างยิ่ง

“ส่วนแกงไทยที่มีความเป็นไทยแท้ต้นตำรับกับแกงไทยในลักษณะฟิวชั่นหรือประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยนั้น ส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ควรประยุกต์ให้ใกล้เคียงความเป็นไทย ไม่ใช่แกงเขียวหวานแต่ใส่แครอทมาแทนมะเขือแบบนี้ก็คงไม่สามารถเรียกว่าเป็นแกงเขียงหวานของไทยได้” อ.เย็นใจกล่าว

ดร.เนตรนภิส วัฒนสุชาติ นักโภชนาการและสุขภาพ สถาบันเดียวกัน ระบุว่าวัตถุดิบมาตรฐานของแกงไทย ล้วนอุดมไปด้วยพืชผัก สมุนไพร และเครื่องเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การรับประทานอาหารไทย โดยเฉพาะแกงไทยจึงดีต่อสุขภาพการจัดกิจกรรมแข่งขันอาหารไทยเช่นนี้จะช่วยให้คนสนใจ และเกิดกระแสให้คนอนุรักษ์อาหารไทยได้อย่างต่อเนื่อง และ 5 เมนูที่ถูกเลือกมาเป็นโจทย์นี้ ก็เป็นเมนูที่อยู่ในชีวิตประจำวัน แม้แต่สถาบันสอนทำอาหารให้คนต่างชาติก็มักจะเลือกเมนูเหล่านี้เพื่อการเรียนรู้เช่นกัน จึงนับเป็นข้อดีที่จะทำให้รายการนี้ได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้งานวิจัยของฝ่ายพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังพบว่าแกงไทยอย่าง ฉู่ฉี่ปลาทับทิม และแกงเขียวหวานไก่ ยังเป็นเมนูที่อยู่ในกลุ่มอาหารที่ช่วยป้องกันมะเร็งได้ดีในระดับหนึ่งทีเดียว

ขณะที่..ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ กูรูด้านอาหารและนักชิม กล่าวย้ำว่าเครื่องแกงไทยคือภูมิปัญญาของคนไทยที่แตกต่างกันไปตามสูตรเฉพาะของแต่ละคน แต่ที่น่าเสียดาย คือแกงไทยแสนอร่อยหลายๆสูตรต้องสูญหายไปเพราะคนทำอายุมากและไม่มีผู้สืบทอด...

ในเมื่อ “อาหารไทย” เป็นทั้งมรดกวัฒนธรรม เป็นทั้งยาสามัญประจำบ้าน และเป็นของดีของประเทศ ... “คนไทยทุกคน” จึงควรมีส่วนร่วมในการช่วยกัน “อนุรักษ์อาหารไทย” ให้คงอยู่... ใครที่ปรุงเป็นคงต้องช่วยกันรักษาและถ่ายทอดอย่าให้สูญหาย... ใครที่ปรุงไม่เป็นก็ควรสนับสนุนช่วยกันรับประทานและส่งเสริมให้อาหารไทยเป็นเมนูแถวหน้าของคนทั่วโลก...สมกับที่ได้รับการกล่าวขานว่าประเทศไทยเป็น “ครัวของโลก”

................

ณฐินี แสงโสดา