การเมืองเรื่อง 'หมุด'

การเมืองเรื่อง 'หมุด'

วิกฤติสื่อที่เป็นผลจากการพัฒนาของโซเชียลมีเดีย จนทำให้ “สื่อกระแสหลัก” ล้มหายตายจาก

และไม่ใช่ผู้กำหนด วาระข่าว ในแต่ละวัน แต่ละเรื่องอีกต่อไป ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อผู้ที่ทำงานการเมือง และเป็นบุคคลสาธารณะด้วย

อาจารย์ สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความมั่นคงชื่อดัง เคยสรุปเอาไว้แบบคมๆ ว่า โซเชียลมีเดียทำให้คนที่ทำงานการเมือง ไม่สามารถหลอกประชาชนได้อีกแล้ว

เราลองย้อนดูง่ายๆ อย่างเรื่อง หมุดคณะราษฎร ถูกสับเปลี่ยน เมื่อรัฐบาลตอบไม่ตรงคำถาม (หรือไม่ยอมตอบ) เรื่องก็ไม่จบ และจะยังคงเป็นประเด็นค้างคาใจสะสมต่อไป

เรื่องแบบนี้อย่าประมาทกระแสสังคม เพราะความเชื่อมต่อของข้อมูลข่าวสาร ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว

หลายเรื่องเหมือนสังคมปล่อยผ่าน แต่เมื่อถึงจังหวะเวลาหนึ่ง ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกขุดขึ้นมาเรียงร้อยใหม่ และกระตุ้นความรู้สึกค้างคาใจสะสมให้ระเบิดออกมาได้

ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีเอาเสียเลย คนทั่วๆ ไป โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่หาเช้ากินค่ำ หรือมีรายได้แบบเดือนชนเดือน ไม่มีใครนิยมชมชื่นกับสภาพที่เป็นอยู่ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำและปรากฏเป็นข่าวคือการแจก 2 ขั้นให้คนที่ทำงานให้ คสช. ขณะที่นายพลระดับหัวๆ ที่มีตำแหน่งแห่งหนทั้งใน ครม. คสช.และสนช. รับเงินเดือนกัน 2 ทาง 3 ทาง ทำงานในห้องแอร์...ไหนบอกเสียสละเข้ามา?

นี่ยังไม่นับความไม่โปร่งใสในการทำมาหากินของคนใกล้ชิดอีกนับไม่ถ้วน...

ในแง่นโยบายก็เตรียมจัดซื้อเรือดำน้ำ 3.6 หมื่นล้าน ใครค้านก็ด่า, ผลักดันกฎหมายโอนงบประมาณ (ซึ่งหมายถึงการโอนอำนาจการสั่งใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล มาที่นายกฯ และครม.) ทั้งๆ ที่รัฐบาลเลือกตั้งเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังไม่กล้าทำ

การคุมสื่อกระแสหลักอย่างทีวี ด้วยการ จ้อข้างเดียว มานานเกือบ 3 ปีของนายกฯไม่ได้ก่อประโยชน์ใดๆ เช่นเดียวกับการกดดันการทำหน้าที่ของสื่อ เพราะผู้ที่กำหนดวาระข่าวกลายเป็นใครก็ได้ที่มีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน บทเรียนของ “อาหรับสปริง ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศมุสลิมเล็กๆ อย่างตูนิเซียก็มีให้ศึกษามาแล้ว

ถ้าท่านยังละเลยความรู้สึกของประชาชนต่อไปแบบที่ตอบคำถามเรื่อง “หมุดคณะราษฎร ระวังกระแสจะตีกลับ เพราะมันจะแรงกว่าขามาหลายเท่านัก!