ถ้าจะปฏิรูปเศรษฐกิจจริง ควรใช้ระบบเศรษฐกิจแนวใหม่

ถ้าจะปฏิรูปเศรษฐกิจจริง ควรใช้ระบบเศรษฐกิจแนวใหม่

นักเศรษฐศาสตร์และนักบริหาร ผู้ควบคุมนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของไทย เชื่อ อ้างว่า

ระบอบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี เป็นทางเลือกเดียว เพราะว่าทางเลือกอื่นเช่นสังคมนิยมแบบโซเวียต จีน ล้มเหลวเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวตลาดเสรีแล้ว แต่นี่เป็นการมองแบบ 2 ขั้วสุดโต่งที่ไม่จริง ในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นมีทางเลือกอื่นมากกว่า 2 ขั้วอย่างที่อ้างมา เช่น อาจเป็นแบบที่ คือแบบผสมระหว่างทุนนิยมแข่งขัน กับสังคมนิยมประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการอย่างในยุโรปเหนือ ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ ฯลฯ ก็ได้

ประเทศที่ใช้ทางเลือกแบบที่ 3 หรือแบบผสมผสานเหล่านี้ สามารถพัฒนาประเทศให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต และการจัดการระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีลักษณะเสรีประชาธิปไตย มีความหลากหลาย และคำนึงถึงระบบนิเวศอย่างได้ผล มากกว่าทั้งประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาดเป็นด้านหลัก เช่น สหรัฐฯ ไทย ฯลฯ และประเทศอดีตสังคมนิยมที่กลายเป็นทุนนิยมโดยรัฐอย่างรุสเซีย จีน

การพัฒนาทางเลือกที่ 3 คือระบบผสมระหว่าง ทุนนิยมแบบเน้นแข่งขันที่ป็นธรรม ซึ่งต่างจากแข่งขันเสรีแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผสมกับรัฐสวัสดิการ สังคมนิยมประชาธิปไตยแนวระบบนิเวศ ระบบสหกรณ์ และธุรกิจเอกชนที่พนักงานและประชาชนเข้าไปถือหุ้นมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจแบบผสมแนวที่ก้าวหน้าที่เปิดให้สหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภค สหภาพแรงงาน องค์กรประชาชน สภาชุมชน มีอำนาจต่อรองและบทบาทมากขึ้น

ไทยน่าจะเลือกแนวนี้ผสมผสานกับเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวพุทธที่เน้นทางสายกลาง (ไม่ใช่ทุนนิยมหรือสังคมนิยมสุดโต่ง) การใช้ชีวิตเรียบง่าย ประหยัด ทำดี ไม่เบียดเบียนคนสัตว์และธรรมชาติ ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา การพัฒนาแบบยั่งยืน คำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพชีวิตและความสุขสงบของคนส่วนใหญ่ มากกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแนวกระแสหลักเน้นการเพิ่มความเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติ ที่เพิ่มความไม่สมดุล ความเหลื่อมล้ำให้กับการจะปฏิรูปในแนวใหม่นี้ได้ สังคมและระบบนิเวศไม่มีทางเลือกอื่น นอกจาก

  1. จะต้องอธิบายให้คนไทยเลิกเชื่อแบบขาวหรือดำอย่างง่ายๆ ว่าเราต้องพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมล้วนๆ เท่านั้น 2. ส่งเสริมให้คนไทยสนใจอ่าน ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจการเมือง สังคมของประเทศอื่นๆ อย่างวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ และใจกว้าง ตระหนักว่าถ้าเราช่วยกันทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้และการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรได้มากขึ้น ประชาชนไทยจะมีพลังในการเรียกร้องผลักดันเปลี่ยนแปลงปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การเมือง ได้มากขึ้น

นี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่มากกว่าแค่สิทธิเลือกผู้แทนไปกินบ้านกินเมือง แล้วประชาชนทำอะไรไม่ได้ ถ้าประชาชนมีความรู้อย่างมีเหตุผลและรวบรวมเสียงได้มากพอที่จะผลักดันแก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องกฎหมาย นโยบาย โครงการพัฒนาประเทศ ฯลฯ ประชาชนที่รวมตัวกันได้ดีมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศไปในทางที่มุ่งสร้างประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ได้มากกว่าเพื่อนายทุนและชนชั้นกลางส่วนน้อย

การจะปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองไทยให้เป็นธรรม มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม ไม่สามารถทำจากบนลงล่าง คือนายกฯ และรัฐบาลเป็นผู้สั่งการได้เพราะพวกเขามีผลประโยชน์/อำนาจเพื่อกลุ่มตัวเอง และเป็นกลุ่มคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ปัญหาของภาคประชาชนมากพอ การปฏิรูปจะเป็นไปได้จริง ต้องผลักดันจากล่างขึ้นบน คือส่งเสริมให้ประชาชนไทยคิดเป็นวิเคราะห์เป็น สนใจตื่นตัวทางการเมือง ไทยรู้จักมองอะไรได้กว้างไกลอย่างวิพากษ์วิจารณ์ มีวุฒิภาวะ ไม่มองปัญหาเรื่องความขัดแย้งแบบแบ่งเป็น 2 ขั้วสุดโต่ง ไม่ขาวก็ดำอย่างง่ายเกินไป รู้จักมองปัญหา สถานการณ์ สภาพสังคมอย่างวิเคราะห์ เชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม และมองเห็นถึงรากเหง้า กระแสใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองทั้งระบบ ที่กว้างขวางกว่าการมองเฉพาะปรากฏการณ์หรือปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วนๆ และเป็นเรื่องระยะสั้น

ประชาชนควรเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในพลังของตนเอง กลุ่ม และชุมชน เชื่อมั่นในเรื่องสิทธิความเสมอภาค เลิกหวังพึ่งคนมีอำนาจแบบระบบอุปถัมภ์ และรวมกลุ่มกันเพื่อตรวจสอบผลักดันให้นักการเมือง นายทุน ข้าราชการ ต้องทำงานโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเพิ่มขึ้น

การที่ไทยจะแก้ปัญหาการทุจริต ความขัดแย้งแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง และปัญหาต่างๆ ได้ จะต้องหาทางส่งเสริมให้คนทั้งประเทศฉลาดและมีจิตสำนึกมากพอที่จะยอมลดผลประโยชน์ระยะสั้นและลดความหลงตัวเองลง มีความเข้าใจ/ตระหนักมากขึ้นว่า เราทุกคนที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่างคนต่างเกิดมาอาศัยอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 100 ปี) ได้ควรได้หันมาใช้ชีวิตแบบร่วมมือกัน เห็นใจกัน ช่วยเหลือกัน ผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมให้เป็นธรรม มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม และลดการทำลายระบบนิเวศ นี่คือการรักษาผลประโยชน์ตัวเองและลูกหลานของตนในระยะยาว

คนไทยทุกคนไม่ว่าจะคนรวยหรือคนจน คนมีอำนาจหรือคนด้อยอำนาจ ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันที่จะต้องร่วมมือกันต่อสู้กับปัญหาการเอาเปรียบของทุนต่างชาติและทุนขนาดใหญ่ ปัญหาความยากจน ขาดแคลน และความล้าหลังไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน เพื่อที่เราจะสามารถพัฒนาประเทศไทยไปสู่ 1. ความถูกต้องชอบธรรม ตามหลักจริยธรรม 2. ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจการเมือง สังคม วัฒนธรรม 3. การพัฒนาที่สอดคล้องกับระบบธรรมชาติหรือระบบนิเวศ

นั่นก็คือ เราควรปฏิรูปสังคมไปสู่สังคมที่ประชาชนคิดอย่างมีเหตุผลเป็น มีจิตสำนึกที่ดีเพื่อส่วนรวม อยู่กันตามทำนองคลองธรรม สังคมที่มีการกระจายทรัพย์สินรายได้ การศึกษา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ฐานะทางสังคม ฯลฯ ไปสู่ประชาชนทั้งประเทศอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และสังคมที่การพัฒนาในแนวทางเศรษฐศาสตร์เชิงระบบนิเวศ ลดการทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนถึงรุ่นลูกหลานเหลน