ความไม่แน่นอนศก.โลกยังสูง

ความไม่แน่นอนศก.โลกยังสูง

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เริ่มเห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น สะท้อนผ่านรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

 ฉบับล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เป็น 3.5% จากเดิมประเมินไว้ที่ 3.4% ซึ่งถือเป็นการ “ปรับเพิ่ม” ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกครั้งแรกในรอบ 6 ปี

ไอเอ็มเอฟ มองว่า เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ซบเซามานาน จะได้รับอานิสงส์จากวงจรการฟื้นตัวของการผลิตและการค้าโลก ที่เริ่มกลับเข้าสู่ขาขึ้นมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว สอดคล้องกับความเห็นของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรอบนี้มีความชัดเจนมากขึ้น

โดย ธปท. ประเมิน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรอบนี้ ไม่ได้เกิดเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐเท่านั้น เพราะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นและจีน โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ก่อนหน้านี้ หลายคนแสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินภายในประเทศ อาจบั่นทอนการเติบโต แต่ล่าสุดดูเหมือนความกังวลในส่วนนี้ลดลงไปมาก

เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ล่าสุด ธปท. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้เป็น 2.2% จากเดิมมองว่าจะไม่เติบโตเลย ขณะเดียวกัน ธปท. ยังปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มเป็น 3.4% จากเดิมประเมินไว้ที่ 3.2%

อย่างไรก็ตามแม้ ธปท. จะปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่ ธปท. ระบุว่า ความเสี่ยงด้านต่ำก็มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งนโยบายกีดกันการค้าของหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่สูง

ความกังวลในส่วนนี้ ยังสอดคล้องกับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) ที่มองว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย แม้ว่า เอดีบี จะ “คง” ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.5% แต่ก็พร้อมจะทบทวนใหม่หากสถานการณ์รุนแรงเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

อย่างไรก็ตาม เอดีบี เชื่อว่า ผลกระทบลำดับแรกที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาที่ว่านี้ คือ ความผันผวนของค่าเงิน เพราะถ้านักลงทุนขาดความเชื่อมั่น เม็ดเงินก็จะไหลเข้าสู่สินทรัพย์ที่ถูกมองว่ามีความปลอดภัย เราจึงเห็นว่าผู้ลงทุนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนไม่ควรประมาทกับเรื่องดังกล่าว

มีตัวเลขที่น่าตกใจในเรื่องนี้ออกมาจากทาง ธปท. คือ จากการสำรวจของ ธปท. พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ราว 60% ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินเลย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งมีสัดส่วนที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินสูงถึง 72% และในจำนวนผู้ประกอบการรายเล็กนี้มีเพียง 9% เท่านั้น ที่ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

เราเห็นว่าความเสี่ยงจากความผันผวนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แม้เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการได้ ยิ่งสถานการณ์โลกในช่วงนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนที่มากขึ้น การให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในเรื่องค่าเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ