พิเคราะห์ศัพท์แสงดุดัน ตรงขอบเหวแห่งสงคราม!

พิเคราะห์ศัพท์แสงดุดัน ตรงขอบเหวแห่งสงคราม!

อะไรคือ strategic patience ในความหมายของสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี

ที่ชื่อโดนัลด์ ทรัมป์?

แปลตรงตัวคือ ความอดกลั้นทางยุทธศาสตร์

คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ตอนไปเยือนเกาหลีใต้ และต่อมาอีกสองสัปดาห์รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ไปยืนห่างจากเส้นแบ่งเกาหลีเหนือใต้ที่เส้น 38 เพียง 100 ฟุตก็ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า

“The era of strategic patience is over”

จะใส่เครื่องหมายตกใจตอนท้ายประโยคนี้หรือไม่ ก็คงมีความหมายชัดเจนว่านี่คือคำเตือนจากวอชิงตัน ว่าจากนี้ไปหากทรัมป์สั่งให้ทำอะไรกับเกาหลีเหนือก็อย่าว่ากัน เพราะที่ผ่านมา 8 ปีภายใต้อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามานั้นได้ใช้นโยบาย “ความอดกลั้นทางยุทธศาสตร์” มาพอแล้ว

ทรัมป์กำลังส่งสัญญาณว่าจะไม่อดทนต่อไป หากเปียงยางทดลองขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งวอชิงตันถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเขาและพันธมิตร

ก่อนหน้านี้ สหรัฐจะใช้คำว่า tolerance มากกว่า patience เพราะคำแรกมีความหมายทางการทูตมากกว่า และคำที่มีความหมายเกี่ยวโยงกันเมื่อจะไม่อดทนก็จะเป็น zero-tolerance เพื่อบอกกล่าวว่าจะไม่อดทนกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไป

วลีที่มาพร้อมกับการสิ้นสุดของ “strategic patience” จากทรัมป์คือ “All options are on the table” ซึ่งเป็นการยกระดับการข่มขู่ฝ่ายตรงกันข้าม ในการกดดันให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องถอย

เพราะวลีนี้แปลตรงตัวว่า ทุกทางเลือกอยู่บนโต๊ะ อันหมายความว่าจะไม่คัดทางเลือกใดออกจากการพิจารณา

อีกนัยหนึ่งแปลว่าหากทางเลือกทางการทูต, การเมืองและการเจรจาไม่ได้ผล ก็จะไม่ลังเลที่จะใช้วิธีทางทหารเพื่อจัดการกับฝ่ายตรงกันข้าม

รองประธานาธิบดีเพนซ์ประกาศเตือนเกาหลีเหนือว่า “Don’t try to test President Trump’s resolve.”

แปลได้ความว่า “อย่ามาทดสอบความมุ่งมั่นของท่านประธานาธิบดีทรัมป์”

อันหมายความว่าทรัมป์ไม่มีเกียร์ถอยหลัง!

เกาหลีเหนือก็มีศัพท์แสงที่ตอบโต้มาอย่างไม่ลดละเช่นกัน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของเขาออกมาให้สัมภาษณ์สื่อตะวันตกว่า “เราพร้อมที่จะทำสงครามทุกรูปแบบ” (We are ready for all forms of war)

อีกทั้งยังสำทับว่า “We will respond to an all-out war with an all-out war”

อันเป็นวาทะดุดันที่สะท้อนถึงความกร้าวที่เกาหลีเหนือใช้ เป็นรูปแบบของการทำสงครามวาทกรรมพร้อม ๆ กับการทดลองขีปนาวุธและนิวเคลียร์

“เราจะตอบโต้สงครามเต็มรูปแบบด้วยสงครามเต็มรูปแบบ” เป็นประโยคที่เน้นทั้งภาษาและความมุ่งมั่นในลักษณะ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” กันทีเดียวครับ

ติดตามข่าวความตึงเครียดในซีเรีย และคาบสมุทรเกาหลีให้ได้เนื้อหาสาระจริง ๆ ต้องวิเคราะห์ภาษาที่ใช้โดยทุกฝ่าย

เช่น There is no military solution in the Korean crisis.

ทางออกจากวิกฤตคาบสมุทรเกาหลีที่เป็นทางทหารไม่มี

แปลว่าจะต้องหาทางออกด้วยวิถีทางการเมืองและการทูตเท่านั้น

การประกาศด้วยถ้อยแถลงดุเดือดทิ่มแทงและท้าตีท้าต่อยยังไง ๆ ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องหาทางออกด้วยภาษาที่ประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยถอยกันคนละก้าว

ผมเคยอ่านหนังสือชื่อ “Deterrent or Defence” ที่เขียนโดยนักวิเคราะห์ทางทหารชาวอังกฤษชื่อ Basil Liddell Hart ที่แนะนำว่าในการต่อรองเจรจาท่ามกลางความตึงเครียดที่อาจนำไปสู่สงครามนั้น ผู้นำโลกควรจะต้อง

“Keep strong, if possible. In any case, keep cool. Have unlimited patience. Never corner an opponent and always assist him to save his face. Put yourself in his shoes – so as to see things through his eyes…”

หนทางเลี่ยงสงครามสำหรับผู้นำโลกคือมีจุดยืนแข็งแกร่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ มีความอดกลั้นไร้ขีดจำกัด

อย่าต้อนฝ่ายตรงกันข้ามเข้ามุม

ช่วยศัตรูรักษาหน้า

เอาใจเขามาใส่ใจเรา... ลองมองสถานการณ์จากมุมของฝ่ายตรงกันข้ามบ้าง

ข้อแนะนำทั้งหมดนี้โดนัลด์ ทรัมป์ และ คิม จองอึน ไม่เชื่อเลยแม้แต่ข้อเดียว!