It’s the FAST that eat the SLOW

It’s the FAST that eat the SLOW

รวดเร็วแต่รัดกุมรอบคอบ แต่ไม่ซับซ้อน

... หรือสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย

เมื่อหลายปีก่อน ผมได้อ่านหนังสือขายดีเล่มหนึ่งซึ่งมีชื่อที่เตะตามากคือ 'it’s not the BIG that eat the SMALL … it’s the FAST that eat the SLOW' เขียนโดย Jason Jennings และ Laurence Hughton ซึ่งผู้เขียนเสนอบทวิเคราะห์ว่าการล้มหายตายจากของยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทัน เช่น Kodak และ IBM และการเกิดอย่างยิ่งใหญ่ของธุรกิจใหม่ๆ ที่คิดเร็ว ทำเร็วอย่าง Amazon และ H&M (ขณะที่หนังสือออกมานั้น Alibaba ยังไม่เกิด) ทำให้ความเชื่อเดิมเรื่องปลาใหญ่กินปลาเล็ก (it’s the BIG that eat the SMALL) ดูเป็นเรื่องไม่น่ากังวลเมื่อเทียบกับการที่บรรดากิจการที่ปรับตัวช้า ไม่ว่าจะเคยยิ่งใหญ่เพียงใดจะล้มไปหรือจะถูกกลืนกินด้วยกิจการที่ตัดสินใจและดำเนินการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว (it’s the FAST that eat the SLOW)

Let’s wake the rabbit before it’s too late!

ในบทวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยใน website ของ World Bank (Thailand Systematic Country Diagnostic 2016) เมื่อเร็วๆ นี้มีการระบุไว้ว่า จากเดิมที่ประเทศไทยเคยถูกจัดว่าเป็น 'ประเทศเป้าหมาย' ที่น่าเข้ามาลงทุนสำหรับกลุ่มธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ ในปัจจุบันประเทศไทยได้ถูกมองว่าเป็นเพียง 'ประเทศทางเลือก' ประเทศหนึ่งเท่านั้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ได้ปรับตัวขึ้นมาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจทัดเทียมกับหรือเหนือกว่าประเทศไทยแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ประเทศไทยซึ่งอาจจะเป็นกระต่ายที่หลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงได้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งด้วยโครงการ 'การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC)' เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก (ซึ่งในขั้นต้นจะครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา) ให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจการค้าชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งส่วนเร่งด่วนที่สุดจะประกอบด้วยการขยายและพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้กลายเป็นสนามบินนานาชาติที่ทันสมัยสามารถรองรับภาคอุตสาหกรรมและนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก/ จัดสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภากับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ/ และขยายท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีบริษัทชั้นนำทั้งไทยและต่างชาติมาร่วมกันลงทุน โดยจะอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ EEC ซึ่งมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เป็นเลขาธิการ

ผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ ดร.คณิศ มาตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งผมเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (เป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด) ในการระดมทุนเพื่อดำเนินโครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร โดยในขณะนั้น ดร. คณิศ เป็นกรรมการของบริษัทที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง และผมจะมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ ดร.คณิศ ในโครงการ EEC นี้ด้วย เนื่องจากผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานในการจัดทำระเบียบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการ EEC

ผมเชื่อว่า ความเชื่องช้าของการขับเคลื่อนโครงการสำคัญๆ ของประเทศไทยมาจากกฎ กติกาในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในระบบราชการซึ่งเป็นขั้นตอนซับซ้อน (Bureaucracy) เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดความรอบคอบ รัดกุม

ดร.คณิศ เป็นข้าราชการมาก่อนแต่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจมานาน รวมทั้งได้เป็นที่ปรึกษาให้แก่คณะรัฐมนตรีมาหลายสมัย ประกอบกับเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว จึงมีคุณสมบัติพร้อมที่จะผลักดันให้ EEC เป็นโครงการนำร่องของประเทศไทยเพื่อให้เป็น the FAST ตัวจริงเสียงจริง ซึ่งสิ่งสำคัญที่ EEC จะต้องทำให้สำเร็จคือ สร้างระบบการตัดสินใจใหม่ที่ 'รวดเร็วแต่รัดกุม' (Blow out the Bureaucracy) และ 'รอบคอบแต่ไม่ซับซ้อน' (Keep it simple)