คนจีนกับความไม่เท่าเทียม

คนจีนกับความไม่เท่าเทียม

เมื่อหลายวันก่อน มีเพื่อนผมคนหนึ่งถามว่า ทำไมคนจีนจึงยัง “รับได้” กับความไม่เท่าเทียมทางรายได้ที่ขยายตัวกว้างมากขึ้นทุกวัน?

 เพื่อนผมคนนี้ไปเมืองจีนทำมาค้าขาย เจอคนจีนที่ร่ำรวยล้นฟ้า แต่พอลงไปในชนบทจีน ก็เจอคนอีกมหาศาลที่ยังยากจนข้นแค้นอย่างมาก

ปัจจุบัน ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ของจีนอยู่ในระดับสูง โดยดัชนี Gini Coefficient ของจีนมีค่าเฉียดๆ 0.5 (ค่ายิ่งเข้าใกล้ 1 ยิ่งมีความไม่เท่าเทียมสูง) นอกจากนั้น ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ระหว่างภูมิภาคก็ชัดเจนมาก มณฑลตอนในของประเทศยากจน ขณะที่มณฑลชายฝั่งทะเลร่ำรวย รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรในมณฑลตอนในของประเทศจีน คิดเป็นเพียง 60% ของรายได้ต่อหัวของประชากรในมณฑลชายฝั่งทะเล 7 แห่ง (เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน เจียงซู เจ๋อเจียง กว่างตง ชานตง และฝูเจี้ยน)

นักวิเคราะห์หลายคนสงสัยว่า หากช่องว่างทางรายได้ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะกระทบกับเสถียรภาพทางการเมืองของจีนหรือไม่? พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะรักษาอำนาจต่อไปได้หรือไม่ในระยะยาว? จะทำอย่างไรถ้าผู้คนเริ่มคับข้องใจว่าสังคมไม่มีความยุติธรรม จนนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยในจีนในที่สุด

Martin King Whyte ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เสนองานวิจัยที่น่าสนใจมากครับว่า คนจีนโดยทั่วไปอาจไม่ได้รู้สึกอะไรมากมายกับความไม่เท่าเทียมทางรายได้ อย่างที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายกังวล

จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจีนทั่วประเทศในปี ค.ศ. 2004 และ ค.ศ. 2009 (ซึ่งเป็นช่วงที่ความแตกต่างทางรายได้เริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว) เขาพบว่า คนจีนส่วนใหญ่ “รับได้” กับความไม่เท่าเทียมทางรายได้ และส่วนใหญ่เห็นว่าสังคมจีนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าอย่างไรก็ยังดีกว่าสังคมคอมมิวนิสต์ ในช่วงก่อนสมัยเปิดและปฏิรูปประเทศ (แม้ว่าในยุคก่อนเปิดและปฏิรูปประเทศ ทุกคนจะมีความเท่าเทียมอย่างยิ่งก็ตาม)

Whyte อธิบายเหตุผลว่า คนยากจนส่วนใหญ่ในประเทศจีน แม้จะดูเหมือนว่ามีรายได้ต่ำกว่าคนรวยในจีนมากมายมหาศาลเหลือเกิน แต่พวกเขาเองมีโอกาสและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับโอกาสและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนในช่วงการปกครองของเหมาเจ๋อตง เพราะฉะนั้น คนจนในจีนปัจจุบันจึงรู้สึกว่า สังคมจีนในวันนี้ (และการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยุคใหม่) ยังไงก็ดีกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว!

อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ คนเรามักเปรียบเทียบตนเองกับคนรอบตัวที่ตนรู้จัก มากกว่าเอาตัวไปเปรียบกับมหาเศรษฐีในโทรทัศน์หรือในหน้าหนังสือพิมพ์ นอกจากนั้น แม้ว่าช่องว่างความไม่เท่าเทียมของรายได้ระหว่างมณฑลตอนในและมณฑลชายฝั่งของจีนจะสูงมากก็จริง แต่ช่องว่างทางรายได้ภายในแต่ละมณฑลเองจริงๆ แล้วไม่ได้สูงมากนัก คนจีนในพื้นที่ยากจนไม่ได้มีความรู้สึกว่าคนรอบตัวที่ตนรู้จัก (เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ) รวยกว่าตนมากมายสักเท่าไร

พูดง่ายๆ ก็คือ ตราบที่บ้านข้างๆ ในหมู่บ้าน ยังไม่สร้างคฤหาสน์หรูหรา ฉันก็ไม่สนใจหรอกว่ามหาเศรษฐีในเมืองจะร่ำรวยสักเพียงใด

Whyte พบว่า สิ่งที่คนจีนกลับรู้สึกไม่พอใจมากกว่า คือ ความไม่เท่าเทียมในเรื่องโอกาสและเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ถ้าพูดเป็นภาษาวิชาการก็คือ สำหรับคนจีนแล้ว ความอยุติธรรมในเรื่องกระบวนการ (procedural injustice) เป็นเรื่องที่น่าโมโหและน่ารังเกียจมากกว่าความอยุติธรรมในการแบ่งสันปันส่วน (distributive injustice)

ผลสำรวจในงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า คนยากจนในจีนรู้สึกไม่พอใจการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และความลำบากในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนในกระบวนการยุติธรรม มากกว่าที่จะรู้สึกไม่พอใจหรือเกลียดชังคนรวย ดังนั้น สิ่งที่อาจสั่นคลอนเสถียรภาพของพรรคคอมมิวนิสต์ น่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมในเชิงกระบวนการ (คนกลุ่มหนึ่งเข้าถึงอำนาจ โอกาส และกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง) แต่ไม่ใช่ความไม่พอใจเรื่องความไม่เท่าเทียมของรายได้

ผลสำรวจยังพบว่า นโยบายของรัฐบาลที่คนจีนโดยทั่วไปรู้สึกไม่ชอบใจที่สุด คือ นโยบายเรื่องทะเบียนครัวเรือน (หรือระบบ “ฮู่โขว่”) ซึ่งแบ่งคนออกเป็นคนที่มีทะเบียน “คนเมือง” กับคนที่มีทะเบียน “คนชนบท” ตามภูมิลำเนาของแต่ละคน ทะเบียนสองกลุ่มให้ผลแตกต่างกันมากในเรื่องโอกาส (ไม่ว่าจะเรื่องการหางาน การศึกษาของบุตร ฯลฯ) เพราะจำกัดพื้นที่และการย้านถื่นฐานของแต่ละบุคคลและครอบครัว

คนจีนไม่พอใจกับระบบทะเบียนครัวเรือน เพราะเป็นการสร้างความแตกต่างกันในเรื่องโอกาสที่เกิดจากนโยบายของรัฐ ไม่ใช่ผลความรวยจนที่อาจเกิดจากความขยันหรือความสามารถของบุคคล นอกจากนั้น นี่ยังเป็นนโยบายที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยเหมาเจ๋อตงก่อนยุคปฏิรูปเศรษฐกิจอีกด้วย

แน่นอนครับ ความไม่เท่าเทียมทางรายได้เป็นปัญหาที่น่าวิตกในทุกสังคม แต่เราต้องไม่ลืมว่า ความไม่เท่าเทียมในเรื่องโอกาส และในเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่พึ่งพาได้ อาจสำคัญและกระทบกับความรู้สึกของผู้คนในสังคมยิ่งกว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้เสียอีกครับ