เร่งแก้ปัญหา เพื่อลดความเร็วบนท้องถนน อย่างเป็นระบบ

เร่งแก้ปัญหา เพื่อลดความเร็วบนท้องถนน อย่างเป็นระบบ

จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ (11-17 เมษายน 2560) ที่ลดลง 20% จากปีก่อนหน้า

 แม้จะเป็นสัญญาณที่ดีที่ความรุนแรงของอุบัติเหตุลดลง แต่จำนวนอุบัติเหตุทางถนนและผู้บาดเจ็บที่เพิ่มขึ้น 7% และ 5% จากปี 2559 ตามลำดับ ยังเป็นข้อพิสูจน์สำคัญที่ต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบตลอดทั้งปี ด้วยการสร้างระบบที่เน้นความปลอดภัย (Safe System Approach) ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนถนนได้อย่างยั่งยืนในประเทศที่พัฒนาแล้ว

โดยระบบจะคำนึงถึงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ของมนุษย์ และความเปราะบางของร่างกายมนุษย์เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จึงต้องมีมาตรการเพื่อรองรับกับความผิดพลาดดังกล่าว อันได้แก่ การสร้างถนนที่ปลอดภัยขึ้น การผลิตยานพาหนะที่ปลอดภัยขึ้น การใช้ความเร็วที่ปลอดภัยขึ้น และพฤติกรรมที่ปลอดภัยขึ้นของผู้ใช้ถนน ซึ่งทุกมาตรการถือเป็นองค์ประกอบของระบบที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยร่วมกัน

สำหรับประเทศไทย การใช้ความเร็วเกินกำหนดหรือไม่เหมาะสมคิดเป็น 2 ใน 3 ของการเสียชีวิต จากข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนไทย ของมูลนิธิไทยโร้ดส์ และข้อมูลอุบัติเหตุบนทางหลวงทั่วประเทศ ของกรมทางหลวง ทำให้ทราบว่าจากอุบัติเหตุทางถนนของกรมทางหลวง ตั้งแต่ปี 2552 กว่า 50% เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ส่วนบุคคล รถปิคอัพ และรถจักรยานยนต์ ตามลำดับ อีกทั้งกว่า 50% เป็นอุบัติเหตุตกข้างทาง ในขณะที่ตัวเลขการจับกุมผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วเกินกำหนดบนทางหลวงเพิ่มขึ้นถึง 136% ในช่วงปี 2552-2556

ส่วนสถิติคดีอุบัติเหตุการจราจรทางบกทั่วประเทศไทยในปี 2552-2558 พบว่า การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดคิดเป็นประมาณ 20% ของพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 6% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน จึงอาจกล่าวได้ว่ามาตรการส่วนใหญ่ของไทย ที่มุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านความเร็วเพียงอย่างเดียวยังไม่เกิดประสิทธิผล

หากพิจารณาก้าวต่อไปของไทยในการจัดการด้านความเร็ว ผู้เขียนเห็นว่าควรพิจารณาการจัดการความเร็วที่ครอบคลุมตามลักษณะของพื้นที่ อันได้แก่ (1) บนทางหลวงที่มีผู้ขับขี่รถเป็นส่วนใหญ่ และ (2) เขตเมืองหรือชุมชนที่มีการใช้งานร่วมกันระหว่างผู้ขับขี่รถและผู้ใช้ถนนที่มีความเสี่ยงสูง (Vulnerable Road Users) อย่างคนเดินเท้าและผู้ขี่จักรยาน โดยเฉพาะการจัดการด้านถนน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการก่อสร้างและปรับปรุง เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของอุบัติเหตุตกข้างทางหรือชนกันบนทางหลวง ตลอดจนชะลอการใช้ความเร็ว และออกแบบเส้นทางที่ได้มาตรฐานสำหรับผู้ใช้ถนนแยกออกจากผู้ใช้รถ ในเขตเมืองหรือชุมชน รวมไปถึงการพิจารณาจำกัดความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม. ในเขตเมือง ตามมาตรฐานที่ WHO แนะนำ เพื่อลดโอกาสในการเสียชีวิตของคนเดินถนนหากถูกชน

สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย แม้จะมีการกำหนดบทลงโทษหากไม่เสียค่าปรับเมื่อได้รับใบสั่ง ภายใต้การใช้คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 (ม.44) หากแต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ ทั้งการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงหลักการใช้ความเร็วตามกฎหมายในแต่ละประเภทถนน การแจ้งเตือนการจำกัดความเร็วที่เหมาะสม และการบังคับใช้กฎหมายกับทุกคนที่กระทำผิดเท่าเทียมกัน ทุกพื้นที่ และทุกเวลา เพื่อให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่

ส่วนการจัดการที่เกี่ยวกับรถ การจำกัดการใช้รถบางประเภทในบางเส้นทาง เพื่อลดความเสี่ยงของการใช้ความเร็วที่ต่างกันหรือไม่เหมาะสมกับทาง เช่น เส้นทางที่ห้ามใช้รถจักรยานยนต์ เส้นทางเสี่ยงที่ห้ามรถโดยสารขนาดใหญ่ผ่าน ฯลฯ รวมถึงการมีมาตรการจำกัดและควบคุมความเร็วของรถโดยสารสาธารณะอย่างจริงจัง ด้วยการนำระบบ GPS มาใช้ให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่รัฐสามารถพิจารณาดำเนินการได้ก่อนในปัจจุบัน

นอกจากนี้ รัฐและเอกชนควรหารือร่วมกันในการกำหนดมาตรฐานรถที่จำหน่ายภายในประเทศ เช่น ต้องได้รับมาตรฐาน ASEAN NCAP ต้องมีระบบ Intelligence Speed Assistance (ISA) ที่แจ้งเตือนเมื่อความเร็วเกินที่กำหนดไว้ในแต่ละเส้นทาง และ Autonomous Emergency Braking (AEB) ที่จะช่วยให้ผู้ขับขี่หลีกเลี่ยงหรือบรรเทาการชนกันกับรถคันอื่นหรือคนเดินเท้า ฯลฯ รวมไปถึงมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเข้าใจ ถึงความสำคัญของเทคโนโลยี เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนด้านความต้องการของตลาด

ดังนั้น การจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านความเร็วถือเป็นความท้าทายสำคัญของไทย ที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเป็นระบบตลอดทั้งปี โดยต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม และผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างระบบที่เน้นความปลอดภัยอย่างยั่งยืนให้กับท้องถนนของไทย